Lifestyle

สถาบันประสาทวิทยา รับดูแล ‘น้องฟาง’ ผู้ป่วย โรคภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายสมอง

โรคภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายสมอง พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ช่วงอายุ 6-15 ปี ล่าสุด สถาบันประสาทวิทยา รับรักษาต่อ “น้องฟาง” แล้ว

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากที่มีการส่งต่อในสื่อสังคมออนไลน์ขอความช่วยเหลือ “น้องฟาง ผู้ป่วยอายุ 15 ปี ที่ป่วยด้วยโรค Anti NMDA หรือ โรคภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายสมอง ล่าสุด  สถาบันประสาทวิทยา ได้ประสานงานกับโรงพยาบาลต้นสังกัด เพื่อรับผู้ป่วยรายดังกล่าวเข้ามารักษาที่สถาบันประสาทวิทยาแล้ว

โรคภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายสมอง

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลเดิม ที่ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่นั้น แพทย์ได้ทำการดูแลรักษาอย่างดี และมีแพทย์เฉพาะทางระบบประสาทอยู่ แต่เพื่อความสบายใจของญาติผู้ป่วย สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ จึงขอรับรักษาผู้ป่วยและจะติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดต่อไป

ด้าน นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันประสาทวิทยา เปิดเผยว่า สถาบันประสาทวิทยา มีความยินดี ที่จะรับรักษาผู้ป่วยรายดังกล่าว ที่พบว่าป่วยด้วยโรค Anti NMDA หรือ โรคภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายสารสื่อประสาทในสมอง เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ เข้าทำลายตัวรับสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า N-methyl-D-aspartate

สำหรับตัวรับสารสื่อประสาทนี้ มีหน้าที่ในการสั่งงาน หรือ ใช้ในการตัดสินใจ การเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และความจำ และสมองส่วนที่ควบคุม ด้านอารมณ์และพฤติกรรม เป็นโรคสมองอักเสบ ที่เกิดจากภูมิคุ้มกัน ที่พบบ่อยที่สุด ในประเทศไทย

สถาบันประสาทวิทยา

ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลในช่วงปี 2557-2559 โดยสถาบันประสาทวิทยา และโรงพยาบาล ในสังกัดมหาวิทยาลัยและกระทรวงสาธารณสุข พบประมาณ 70 รายต่อปี โดยประมาณ 75% พบในช่วงอายุน้อยกว่า 20 ปี ขณะที่ช่วงอายุที่พบบ่อยที่สุด คือ 6-15 ปี และพบในผู้หญิง มากกว่าผู้ชาย

อาการของผู้ป่วย โรค Anti NMDA เช่น มีพฤติกรรมก้าวร้าว เห็นภาพหลอน หรือ มีอาการกรีดร้อง เมื่ออาการเป็นมากขึ้น อาจจะมีอาการชัก หรือมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ มีอาการเคี้ยวปาก มือบิดเกร็งไปมา บางรายมีอาการเคี้ยวปากจนกัดลิ้น หรือริมฝีปากตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถควบคุมให้หยุดได้

หลังจากนั้น จะมีสัญญาณชีพที่ผิดปกติ เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ ถูกทำลาย หัวใจอาจเต้นเร็ว หรือผิดจังหวะ หรือเต้นช้ามาก จนความดันโลหิตตก และอาจเสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษา หรือหากรักษาช้า สมองจะถูกทำลายไปมาก

ด้านการรักษา จะเริ่มให้การรักษาด้วย ยาสเตียรอยด์ขนาดสูง ร่วมกับการทำเปลี่ยนถ่ายเลือด (plasma exchange) หรือ ให้ร่วมกับ immunoglobulin (IVIG) หลังจากนั้น อาจจำเป็นต้องได้ ยากดภูมิคุ้มกันต่อเนื่องอีก 1-2 ปี เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ

อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้ระหว่าง การเปลี่ยนถ่ายเลือด หรือ IVIG ขึ้นกับตัวคนไข้ เช่น ในผู้ป่วยเด็กการให้ IVIG อาจจะสามารถให้ได้ เพราะสะดวกกว่าการเปลี่ยนถ่ายเลือด หากรักษาได้เร็วภายใน 2 สัปดาห์ หลังมีอาการ มากกว่า 65% จะตอบสนองต่อการรักษาเป็นอย่างดี สามารถกลับไปใช้ชีวิต เรียนหนังสือ หรือทำงานได้ตามปกติ ภายใน 12 เดือน

ในช่วงแรก ๆ ผู้ป่วย อาจจะยังมีพฤติกรรม ที่ผิดปกติอยู่บ้าง แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น โดยประมาณ 40% ของผู้ป่วยโดยเฉพาะในผู้หญิง จะพบร่วมกับเนื้องอกที่รังไข่ (ovarian teratoma) ซึ่งผู้ป่วย ควรได้รับการตรวจ จากสูตินารีแพทย์ทุกราย เพื่อหาเนื้องอกดังกล่าว

ขณะที่ในผู้ชาย จะพบเนื้องอกที่อัณฑะได้ แต่น้อยกว่า ก็มีความจำเป็น ต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเช่นกัน จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ ประมาณ 20-25%

ส่วนผู้ป่วยในรายที่ไม่ตอบสนอง ต่อการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ ร่วมกับการทำเปลี่ยนถ่ายเลือด หรือให้ IVIG อาจต้องให้ยาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่ง ได้แก่ cyclophosphamide หรือ rituximab โดยปัจจุบัน การให้ยา rituximab เป็นที่แพร่หลายในต่างประเทศ เพราะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี และค่อนข้างปลอดภัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo