Politics

8 แสนคนป่วน! ‘หมอเอกภพ’ จี้ ‘สปสช.’ ช่วยด่วนหลังยกเลิก ‘บัตรทอง’

‘หมอเอกภพ’ จี้ ‘สปสช.’ เร่งหามาตราการช่วยประชาชน หลังกทม.ยกเลิก”บัตรทอง” เสนอโมเดลใหม่ปรับโครงสร้างสปสช. การให้บริการทั้งระบบ ไม่ใช่ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”

หลังจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ตรวจพบข้อหลักฐานสงสัยใน 64 คลินิกว่า มีการเบิกจ่ายที่กระทำไม่ถูกต้อง เช่น การสวมสิทธิการรับบริการ ทั้งที่ไม่มีการคัดกรองเบาหวานความดัน กระทบต่อ สปสช. ที่ไม่ได้ข้อมูลเพื่อวางแผนบริการจัดการตามข้อเท็จจริง กระทบต่องบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชน จำเป็นต้อง ยกเลิกสัญญาการเป็นหน่วยบริการของคลินิกเหล่านี้ กรณีที่เกิดขึ้นจะทำให้ประชาชนประมาณ 8 แสนคน ที่ขึ้นทะเบียนสิทธิในคลินิกเหล่านี้ได้รับผลกระทบ  มีผลไปตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2563

นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล กล่าวว่ายกเลิกสัญญาคลินิกและโรงพยาบาลของสปสช. หลังพบทุจริตเงินบัตรทอง จะส่งผลกระทบประชาชน 800,000 คน ที่เป็นข่าว ว่า พรรคก้าวไกลขอเสนอให้ สปสช.มีมาตรการช่วยเหลือประชาชน และมีมาตรการที่รอบคอบรัดกุม เพราะผู้ที่เดือดร้อนคือ ประชาชน ซึ่งไม่ได้มีความผิดอะไรด้วยกับเรื่องที่ สปสช.ตรวจพบว่า โรงพยาบาล หรือคลินิกต่างๆ เหล่านี้ทุจริต สปสช.ควรต้องมีการช่วยเหลือการขึ้นทะเบียนกับสถานพยาบาลแห่งใหม่ เพื่อให้ตัวเลือกกับประชาชน แทนที่จะให้ประชาชนเดินเข้าไปหาสถานพยาบาล ต้องไปขึ้นทะเบียนเอง

สปสช 01

นพ.เอกภพ กล่าวว่า กรณีที่คนไข้ที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ประวัติคนไข้เป็นสิ่งสำคัญ สปสช. ในการจัดการเรื่องส่งต่อประวัติการรักษา โดยเฉพาะคนไข้ที่เป็นกลุ่มเรื้อรังที่ต้องรับยาต่อเนื่อง แทนที่จะให้ประชาชนไปติดตามประวัติรักษาจากโรงพยาบาลเดิมแล้วเอาไปรักษาในโรงพยาบาลใหม่ สปสช.ต้องจัดการความเดือดร้อนในจุดนี้ นี่เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งส.ส.พรรคก้าวไกล ในพื้นที่กรุงเทพมหานครทุกคนยินดีเป็นผู้ประสานช่วยเหลือกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว พรรคก้าวไกลเห็นว่า อาจต้องมีการรื้อแก้ไขระบบ การให้บริการของสถานพยาบาล กรุงเทพมหานคร และการให้บริการสถานพยาบาลใหม่ ทั้งหมด ปัจจุบันระบบของ สปสช. ทำให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถเข้าถึงได้เพียง 30% เท่านั้น แตกต่างจากในพื้นที่จังหวัดอื่นที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ 80% ซึ่งประเด็นนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เรื่องนี้เป็นเรื่องคุณภาพชีวิตและเป็นเรื่องรัฐสวัสดิการ ก้าวไกลให้ความสำคัญและมองว่ารัฐต้องทนและพัฒนาให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ปัญหาของระบบ สปสช.ในกรุงเทพมหานคร ในปัจจุบันเป็นระบบที่ “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” เพราะมีโครงสร้างคือ อำนาจส่วนกลางมาจาก สปสช. ส่งต่อไปที่ สปสช.เขต 13 รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากนั้นแต่ละโรงพยาบาลที่หลากหลายในระนาบก็จะเข้ามารับการจัดสรรทรัพยากรจากจุดเดียวนี้ก่อให้เกิดระบบที่ใครมีอำนาจต่อรองหรือมีเสียงที่ดังกว่า ก็สามารถได้รับการจัดสรรทรัพยากรที่มากกว่า

“สิ่งที่เราเสนอคือ ต้องการให้มีการรื้อโครงสร้าง การให้บริการใหม่ทั้งระบบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยที่จะแก้ไขปัญหาระบบที่มีลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา เป็นระบบที่เสมอภาค ทั่วถึงและเท่าเทียม โดยจะทำให้ประชาชนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เข้าถึงระบบสวัสดิการของรัฐอย่างมีทางเลือกและเข้าถึงได้มากขึ้น ข้อเสนอของผมคือ การยกระดับศูนย์สุขภาพด้วยการใช้คลินิกชุมชนเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในพื้นที่และการมีโรงพยาบาลประจำเขต หากเป็นกรณีการรักษาที่ยากขึ้นหรือเกินศักยภาพก็สามารถส่งต่อไปที่โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลประจำคณะแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน เพื่อรักษาดูแลประชาชนต่อได้”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight