Lifestyle

‘วัณโรค’ รู้ทัน ป้องกันได้ ฝัง-เผา ขยะปนเปื้อน ยุติการแพร่กระจาย

วัณโรค ป้องกันได้ แพทย์แนะ ทำลายขยะปนเปื้อน น้ำมูก น้ำลาย ด้วยการฝังหรือ เผา ไม่ควรนอนร่วมกับผู้อื่น ป้องกันเชื้อวัณโรคแพร่กระจาย

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดี กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า วัณโรค คือ โรคติดต่อ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถแพร่กระจาย จากการไอ จาม ถ่มน้ำลาย และขากเสมหะ ของผู้ป่วยวัณโรคปอดสู่ผู้อื่น จึงทำให้ติดเชื้อวัณโรค จากการหายใจ และรับเชื้อ ที่ล่องลอยในอากาศเข้าสู่ปอด

วัณโรค

ทั้งนี้ วัณโรคพบได้ ในทุกส่วนของอวัยวะ ทั่วร่างกาย เช่น วัณโรคกระดูก วัณโรคลำไส้ วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง แต่ที่พบมากที่สุด คือ วัณโรคปอด

สำหรับ ผู้ป่วยวัณโรคปอด จะมีอาการไข้ต่ำๆ ในเวลาบ่ายหรือเย็น ไอแห้ง ๆ และเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ผิวหนังซีด เหลือง และเหงื่อออกตอนกลางคืน ปัจจุบัน สามารถวินิจฉัยโรค ได้จากการเอ็กซเรย์ปอด และการตรวจเสมหะผู้ป่วย ด้วยการส่องผ่าน กล้องจุลทรรศน์

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรป้องกัน และควบคุมการแพร่เชื้อวัณโรค โดยไม่ควรนอนร่วมกับผู้อื่น ควรปิดปากและจมูกทุกครั้ง เวลาไอ หรือ จาม แยกและทำลายขยะ ที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย ด้วยการนำไปฝังหรือเผา แยกเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และภาชนะใส่อาหาร ควรฆ่าเชื้อด้วยความร้อน เช่น ลวก ต้ม และตากแดดจัด

ด้าน นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาผู้ป่วย วัณโรคปอด โดยทั่วไป จะเลือกใช้สูตรการรักษา ระยะสั้นมาตรฐาน 6 เดือน หากผู้ป่วยที่รับการรักษาจนครบกำหนดและเชื้อไม่ดื้อยา จะมีโอกาสหายขาดได้มากกว่าร้อยละ 95

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ 2
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยวัณโรค ได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง คือ หยุดยาก่อนกำหนด ครบระยะรักษา หรือได้รับการรักษาไม่สม่ำเสมอ จะส่งผลให้เชื้อวัณโรค ที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ ทนต่อยาที่เคยรักษา ทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยยาเดิมที่เคยใช้ได้ เชื้อวัณโรค จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กลายเป็นเชื้อวัณโรคดื้อยาได้

ดังนั้น ผู้ป่วยควรรับประทานยา ตามแพทย์สั่ง อย่างสม่ำเสมอ ตามแผนการรักษา และ ไม่ควรหยุดยาเอง แม้อาการจะทุเลาลง

หากพบว่า มีอาการข้างเคียง เช่น ผื่นทั้งตัว มีไข้ มีแผลในปาก หรือตาแดง มองเห็นภาพไม่ชัด ตาพร่า ตามัว คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเหมือนน้ำปลา ควรรีบมาพบแพทย์ทันที

ขณะที่ โรงพยาบาลศิครินทร์ ให้ความรู้เกี่ยวกับวัณโรค ว่า สามารถเกิดได้กับ อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย โดยส่วนมาก มักเกิดเป็น วัณโรคปอด ซึ่งการตรวจวินิจฉัยวัณโรคปอด สามารถตรวจได้ค่อนข้างง่าย โดยการเอ็กซ์เรย์ปอด และตรวจเสมหะหาเชื้อ

นอกจากนี้ ยังแนะนำ สังเกตตนเอง หากมีอาการเหล่านี้ นานกว่า 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์ ประกอบด้วย

  • ไอต่อเนื่องติดต่อกัน
  • อ่อนเพลีย น้ำหนักลด และเบื่ออาหาร
  • ไอหรือเสมหะมีเลือดปน
  • มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ

ขณะเดียวกัน ยังแนะนำวิธีป้องกัน วัณโรคปอด ได้โดย การตรวจร่างกายด้วยการ เอ็กซ์เรย์ ปอดปีละครั้ง, หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิด กับผู้ป่วยวัณโรค, ควรพบแพทย์ทันที เมื่อพบว่า มีอาการเสี่ยงเป็นวัณโรค และ ควรสวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในพื้นที่แออัด

จากรายงานวัณโรคของโลกปี 2560 (global tuberculosis report 2017) โดยองค์การอนามัยโลก คาดประมาณอุบัติการณ์ผู้ป่วยวัณโรค ทั้งรายใหม่และกลับเป็นซ้ำ ของโลก สูงถึง 10.4 ล้านคน  มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตสูงถึง 1.7 ล้านคน

ที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเสีย 75,000 ล้านบาทต่อปี สำหรับการรักษาวัณโรค เนื่องจากวัณโรคเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 10 อันดับแรกของคนไทย โดยมีอัตราการเสียชีวิตจากวัณโรคที่ไม่ดื้อยาอยู่ที่ 8% และเพิ่มขึ้นเป็น 13 % ในผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา วัณโรคจึงเป็นปัญหาระดับชาติ ที่ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

ในคนทั่วไปที่ติดเชื้อวัณโรคจะมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรค 5–10 % ตลอดช่วงชีวิต ในขณะที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ติดเชื้อวัณโรคร่วมด้วย จะมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคสูงถึง10 % ต่อปี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo