Business

ปตท.จัด ‘โครงการประกวดศิลปกรรม ปตท.’ ต่อเนื่อง สร้างเวทีเพื่อคนรักศิลปะ

โครงการประกวดศิลปกรรม ปตท. ปีที่ 35 มอบ 24 รางวัล พร้อมเดินหน้าจัดประกวดต่อเนื่อง เพื่อเป็นเวทีเปิดโอกาสคนรักศิลปะได้แสดงฝีมือ

นับเป็นโครงการส่งเสริมงานศิลปะ ที่จัดมายาวนานต่อเนื่องถึง 35 ปี สำหรับ โครงการประกวดศิลปกรรม ปตท. โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งแต่ครั้งแรกในปี 2529 จนเรียกได้ว่า เป็นการส่งเสริมงานศิลปะที่องค์กรธุรกิจของไทยให้การสนับสนุนมาอย่างยาวนานที่สุดก็ว่าได้

โครงการประกวดศิลปกรรม ปตท.

 

ล่าสุด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้จัดพิธีมอบรางวัล การประกวดศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 35 รวม 24 รางวัล ซึ่งตัดสินจากเยาวชนและศิลปินกว่า 542 คนที่ส่งผลงานเข้าประกวดรวม 588 ชิ้น โดยปีนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เมืองเล็ก เมืองใหญ่ หายใจเต็มปอด”

สำหรับการมอบรางวัลในปีนี้ แบ่งเป็น 2 ระดับคือ ระดับประชาชนทั่วไป และ ระดับเยาวชน 3 กลุ่มอายุ ได้แก่ อายุต่ำกว่า 9 ปี, อายุ 9-13 ปี และอายุ 14-18 ปี

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. เป็นองค์กรที่ดูแลด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ แต่สิ่งที่ ปตท. ให้ความสำคัญควบคู่กันไปคือ การมีส่วนร่วมดูแล ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

โครงการประกวดศิลปกรรม ปตท.
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

ทั้งนี้ การดูแลชุมชน ปตท. ให้ความสำคัญกับงานศิลปกรรม ด้วยการจัดประกวดศิลปกรรม ปตท. ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 35 แม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็สามารถจัดการประกวดได้ เพื่อให้โครงการนี้ เป็นเวทีสำหรับเยาวชนและกลุ่มผู้รักงานศิลปะทุกระดับ ได้สร้างสรรค์ผลงาน แสดงทักษะความสามารถผ่านผลงานศิลปะทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และทัศนศิลป์ รวมถึงศิลปะสื่อผสม

ตลอดระยะเวลาของการจัดประกวด 35 ปี มีผู้รักศิลปะ ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 26,800 คน และมีผู้ได้รับรางวัลแล้ว 816 รางวัล

นอกจากนี้ การกำหนดหัวข้อการประกวดในแต่ละปี ยังสะท้อนถึงสภาพสังคมในยุคหรือช่วงนั้นๆ เช่น ปีนี้ จัดภายใต้หัวข้อ “เมืองเล็ก เมืองใหญ่ หายใจเต็มปอด” เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ทำให้ตลอด 35 ปี การประกวดงานศิลปะ ของ ปตท. สามารถสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ และอารมณ์ของสังคมไทยในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย

โครงการประกวดศิลปกรรม ปตท.

“การจัดงานอย่างต่อเนื่อง 35 ปี ทำให้เวทีประกวดศิลปะของ ปตท. ได้รับการยอมรับในแวดวงศิลปะ และเป็นเวทีที่ศิลปินและผู้รักงานศิลปะ เฝ้ารอที่จะส่งผลงานเข้าประกวด เพื่อแสดงฝีมือ อีกทั้งกรรมการที่เข้าร่วมตัดสิน ล้วนแต่เป็นศิลปินระดับชาติ ศิลปินระดับชั้นนำของประเทศ ทำให้สามารถการันตีผลงานที่ชนะการประกวดได้เป็นอย่างดี”นายอรรถพล กล่าว

สำหรับรางวัลทั้ง 24 รางวัลประกอบด้วย

โครงการประกวดศิลปกรรม ปตท.
ผลงาน “ห่มเมือง (ขอนแก่น)
  • ระดับประชาชนทั่วไป แบ่งเป็น รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล ผู้ชนะได้แก่ นายสุรศักดิ์ สอนเสนา อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากผลงาน “ห่มเมือง (ขอนแก่น) และ มีรางวัลดีเด่นอีก 5 รางวัล
โครงการประกวดศิลปกรรม ปตท.
ผลงาน “แม่รักษ์ต้นไม้”
  • ระดับเยาวชน อายุต่ำกว่า 9 ปี รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล ได้แก่ เด็กหญิงพิชาพัทธ์ ชินมหาพิพัฒน์ ผลงานชื่อ “แม่รักษ์ต้นไม้” จากสถาบันเขียนสี Art & Studio และ มอบรางวัลดีเด่น จำนวน 5 รางวัล
โครงการประกวดศิลปกรรม ปตท.
ผลงาน “ชีวิตสีเขียว”
  • ระดับเยาวชน อายุ 9-13 ปี รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล เป็นของ เด็กชายธนวัฒน์ เจิมวรรธนะ ผลงานชื่อ “ชีวิตสีเขียว” จากโรงเรียนบ้านศิลปะ อุดรธานี และมอบรางวัลดีเด่น จำนวน 5 รางวัล
โครงการประกวดศิลปกรรม ปตท.
ผลงาน “ปลูกอากาศ
  • ระดับเยาวชน อายุ 14-18 ปี รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล ได้แก่ เด็กหญิงกัลยณัฏฐ์ โอษธีศ ผลงานชื่อ “ปลูกอากาศ” โรงเรียนโพธิสารพิทยากร กรุงเทพมหานคร และรางวัลดีเด่น จำนวน 5 รางวัล

นายสุรศักดิ์ สอนเสนา ผู้คว้ารางวัลยอดเยี่ยม ระดับประชาชนทั่วไป เล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน “ห่มเมือง (ขอนแก่น) ว่า มาจากธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ทั้งพืชและสัตว์ โดยมีต้นไม้ ที่มีทั้งความงาม สุนทรียภาพ ในขณะเดียวกันก็ให้ลมหายใจที่บริสุทธิ์กับมนุษย์  รวมทั้งเป็นที่พึ่งพิงกับสัตว์และมนุษย์เช่นกัน

ในขณะเดียวกัน สังคมก็ต้องมีการพัฒนาเติบโต สิ่งที่เป็นวัตถุ ถูกพัฒนาขึ้น ซึ่งทั้งธรรมชาติ และวัตถุ ควรพัฒนาไปอย่างสอดคล้องกัน

โครงการประกวดศิลปกรรม ปตท.
สุรศักดิ์ สอนเสนา

ความยากง่ายของผลงานชิ้นนี้ คือ เป็นงานภาพพิมพ์ ใช้ สิ่ว แกะลงบนแผ่นไม้ แล้วนำไปพิมพ์ ความยากง่าย อยู่ที่การสร้างภาพที่มีน้ำหนัก และบรรยากาศให้เกิดขึ้น สร้างรูปทรงที่มีปริมาตร สร้างระยะ พื้นผิว มิติ และความเคลื่อนไหวต่างๆ

“งานชิ้นนี้ คาดหวังว่า จะเป็นเครื่องสะท้อนและกระตุ้นให้คนคิดถึง และให้ความสำคัญกับธรรมชาติมากขึ้น ต้องขอขอบคุณทาง ปตท. ที่เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริม ศิลป วัฒนธรรมของชาติ ให้มีเวทีสำหรับทุกระดับ ซึ่งจากโอกาสที่ได้รับครั้งนี้ จะนำไปเป็นต้นแบบเพื่อพัฒนาผลงานต่อไป”นายสุรศักดิ์ กล่าว

132871
พิชาพัทธ์ ชินมหาพิพัฒน์

เด็กหญิงพิชาพัทธ์ ชินมหาพิพัฒน์ ผู้ชนะรางวัลยอดเยี่ยม ระดับ เยาวชน อายุต่ำกว่า 9 ปี ด้วยผลงานชื่อ “แม่รักษ์ต้นไม้” เล่าว่า การสร้างสรรค์งาน “แม่รักษ์ต้นไม้” มาจากการที่เห็นคุณแม่ ชอบปลูกต้นไม้ และคุณแม่บอกเสมอว่า ถ้าเราช่วยกันปลูกต้นไม้ จะทำให้อากาศที่เป็นพิษจะหายไป เราก็จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

เมื่อถามถึงความยากง่ายของการสร้างสรรค์งาน หนูน้อยคนเก่งบอกว่า ต้องใช้สีเยอะ ระบายสีเยอะ ทำให้ต้องพยายามและใช้เวลา จึงดีใจมากที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ เพราะความที่ชอบวาดรูปอยู่แล้ว และตั้งใจที่จะวาดรูปสวยๆ ต่อไป

132872
ธนวัฒน์ เจิมวรรธนะ

ด้าน เด็กชายธนวัฒน์ เจิมวรรธนะ ผู้คว้ารางวัลยอดเยี่ยม ระดับเยาวชน อายุ 9-13 ปี จากผลงานชื่อ “ชีวิตสีเขียว” เปิดใจถึงการสร้างสรรค์ผลงานว่า เกิดจากคุณตา คุณยายทำสวนที่จังหวัดเลย โดยปลูกทั้งยางพารา ทุเรียน และต้นไม้อื่นๆ มากมาย เมื่อมีโอกาสไปเยี่ยมหาคุณตา คุณยาย ก็จะช่วยงานสวน และกระโดดน้ำเล่น

แนวคิดนี้ นำมาซึ่งผลงานเป็น หุ่นแทนเด็ก ที่หมายถึงตัวเอง มีเมล็ดพันธุ์พืช ต้นไม้งอกงามอยู่ทั้งบนตัวและรอบตัว ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตมากับต้นไม้ และเน้นสีเขียวที่แสดงถึงธรรมชาติ การไร้มลพิษ พลังงานสะอาด

ความยากของงานชิ้นนี้คือ การดัดลวด ที่มักจะดีดขึ้นมาและคม ใช้เวลากว่า 1 เดือน ซึ่งที่ผ่านมา จากความชอบในงานศิลปะ ทำให้น้องธนวัฒน์ สร้างสรรค์ผลงานประกวดมาแล้วตั้งแต่เด็ก เน้นวาดรูป และเริ่มทำงานประติมากรรมสื่อผสมมา 3 ชิ้นรวมครั้งนี้ โดย 2 ชิ้นที่ผ่านมาคือ ชีวิตสีเทา และ ชีวิตสีแดง ซึ่งคว้ารางวัลมาทั้งสองรางวัล

สุดท้าย น้องธนวัฒน์ ขอขอบคุณ ปตท.ที่จัดการประกวดนี้ขึ้นเพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์งานศิลปะ เพราะจากการที่ทำงานศิลปะ มาตั้งแต่เด็ก ทำให้ค้นพบว่า ศิลปะ ช่วยทำให้สมาธิดีขึ้น สงบขึ้น และมีความพยายาม มุ่งมั่นในการทำงานมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับการเรียน และการใช้ชีวิตประจำวันได้

132883
กัลยณัฏฐ์ โอษธีศ

ปิดท้ายด้วย เด็กหญิงกัลยณัฏฐ์ โอษธีศ ผู้ชนะรางวัลยอดเยี่ยม ระดับเยาวชน อายุ 14-18 ปี ผลงานชื่อ “ปลูกอากาศ” บอกเล่าถึงแนวคิดของงานชิ้นนี้ว่า มาจากความคิดที่อยากให้ทุกคน ช่วยกันปลูกต้นไม้ คนละไม้ละมือ นั่นหมายความว่า ทุกคนช่วยกันปลูกอากาศ ให้อากาศสดชื่น แจ่มใส โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อ ให้คนที่ได้ชม ตระหนักว่า เด็กยังมีความคิดที่จะทำให้สภาพอากาศดีขึ้น และทำได้ถ้าทุกคนช่วยกัน

“ปัญหาฝุ่นควันและมลพิษของประเทศเรา เกิดจากการเจริญเติบโตของบ้านเมือง จึงอยากให้ทุกคนมาร่วมกันสร้างอากาศบริสุทธิ์ด้วยวิธีง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้ ก็คือ การปลูกต้นไม้ รอบๆ บ้าน ที่ทำงาน ทุกตึกทุกอาคารทุกถนน แค่นี้ก็ช่วยให้เราทุกคนมีอากาศบริสุทธิ์ไว้หายใจ บ้านเมืองสวยงามน่าอยู่ คนมีสุขภาพดี”เด็กหญิงกัลยณัฏฐ์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีความสนใจ งานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก โดยความชื่นชอบส่วนตัวคือ ชอบงานที่เป็นรูปแบบ ตึก อาคาร สถาปัตย์ เพื่อต่อเติมความฝันที่อยากเป็นสถาปนิก ซึ่งขอขอบคุณ ปตท. มีสร้างเวทีให้เด็กได้แสดงความสามารถ และสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่รัก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo