Politics

กางแผนรับมือม็อบ! เตรียมตำรวจ 8,500 นาย ตรึงกำลัง 14 จุดรอบพื้นที่!

ม็อบ 19 ก.ย. “พล.ต.ต.จิรสันต์” กางแผนเตรียมความพร้อมด้านการจราจรรับมือม็อบชุมนุม แบ่งการจราจร 3 ระดับ เตรียมกำลังตำรวจ 57 กองร้อย ประมาณ 8,550 นาย ตรึงกำลัง 14 จุดรอบพื้นที่

ม็อบ 19 ก.ย. : ที่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. (รับผิดชอบด้านจราจร) ในฐานะรองโฆษก บช.น. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านการจราจร กรณีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 – 20 กันยายน นี้ ว่า

ประการที่ 1 คือ การจัดระบบการจราจรกรณีที่มีการชุมนุมประท้วง โดยจะไม่มีการปิดการจราจรทั้งหมด

ประการที่ 2 คือ การจัดระบบการจราจรนั้นแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย

  • ระดับที่ 1 กรณีที่มีการชุมนุมบริเวณสถานที่ไม่กระทบผิวการจราจร หมายความว่าถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หรือสนามหลวง การจัดการจราจรก็จะเป็นปกติ ไม่มีการปิดการจราจรแต่อย่างใด
  • ระดับที่ 2 กรณีที่มีการลงมาที่ผิวการจราจร หรือเคลื่อนที่กระทบผิวการจราจรบางส่วน ก็จะจัดการจราจรโดยการจัดระเบียบของผู้ที่มาชุมนุม โดยขอความร่วมมือเพื่อให้ชิดขอบทางด้านซ้ายมากที่สุด ในช่องทางที่เหลือเราก็ใช้เป็นการจราจรตามปกติ
  • ระดับที่ 3 กรณีที่การจราจรที่สามารถสัญจรได้ จะมีการขออนุมัติผู้บัญชาการเหตุการณ์ด้านฝ่ายความมั่นคง เพื่อปิดการจราจรและหลีกเลี่ยงเส้นทาง และให้ผู้สัญจรได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ม็อบ 19 ก.ย.
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Nithithorn.official

อย่างไรก็ตาม ถ้ากระทบผิวการจราจรและต้องปิดการจราจรจะมี 2 แนวทาง ประกอบด้วย

  • แนวทางที่ 1 กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง แล้วกระทบทางแยกใดก็จะทำการปิดการจราจรชั่วคราว เพื่อไม่ให้ผู้สัญจรเข้าไปในเส้นทางนั้น แล้วไม่สามารถไปได้ ได้รับผลกระทบจากการจราจร ฉะนั้นจึงปิดการจราจรชั่วคราวก่อนที่ผู้ชุมนุมจะเดินทางมาถึงทางแยก ให้สามารถเลือกการเดินทางอื่นได้ ฉะนั้นเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนที่ผ่านไปจะเปิดการจราจรตามปกติ
  • แนวทางที่ 2 กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วการจราจรไม่สามารถสัญจรไปได้ อาจจะจำเป็นต้องปิดการจราจรถาวร ตรงนี้จะใช้หลักการเข้าหากับกลุ่มผู้ชุมนุมว่าอยู่จุดใด จะปิดการจราจรก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางถึงทางแยก เพื่อให้ผู้สัญจรมีเส้นทางหลีกเลี่ยงได้ เป็นแนวทางที่ตำรวจเตรียมความพร้อมไว้ ไม่ว่าจะจุดใดก็ตามเตรียมความพร้อมไว้ทุกจุด

ทั้งนี้ ตำรวจนอกจากดูแลรักษาความปลอดภัยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งคือเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของกลุ่มผู้ชุมนุม จึงได้กำหนดเส้นทางฉุกเฉินทางด้านการแพทย์ โดยขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้ชุมนุม หรือประชาชนทั่วไปว่าตำรวจจราจร จะดำรงเส้นทางไว้สำหรับกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ใช้เวลาจากจุดเกิดเหตุไปโรงพยาบาลโดยใช้เวลาน้อยที่สุด

  • กรณีมีการชุมนุมบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หรือ สนามหลวง เส้นทางที่กำหนดไว้ คือ ถนนพระอาทิตย์ ไปโรงพยาบาลกลาง ในส่วนทางด้านทิศใต้เส้นทางที่กำหนดไว้ คือ ถนนสนามไชย ไปโรงพยาบาลกลาง
  • กรณีมีการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีประชาธิปไตย เส้นทางที่กำหนดไว้ คือ ถนนดินสอ ทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ เข้ามาทางโรงเรียนสตรีวิทยา หรือกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไปโรงพยาบาลกลาง
  • กรณีมีการชุมนุมบริเวณแยก จปร. เส้นทางที่กำหนดไว้ คือ ถนนวิสุทธิกษัตริย์ และถนนจักรพรรดิพงษ์ ไปโรงพยาบาลกลาง
  • กรณีมีการชุมนุมบริเวณแยกมัฆวานรังสรรค์ เส้นทางที่กำหนด คือ ถนนกรุงเกษม และถนนลูกหลวง ไปโรงพยาบาลกลาง

ส่วนเส้นทางแนะนำ จะเป็นการเดินทางจากฝั่งพระนครไปฝั่งธนฯ และฝั่งธนฯ ไปฝั่งพระนคร ประกอบด้วย สะพานกรุงธน (ซังฮี้) สะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานพระปกเกล้า สะพานตากสิน

“ในส่วนของตนมีหน้าที่บริหารการจราจรและประสานฝ่ายความมั่นคงที่ บช.น.โดย พล.ต.ต.คมศักดิ์ สุมังเกษตร ผบก.จร.บริหารจัดการจราจรรอบบริเวณพื้นที่การชุมนุม ประจำการที่ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) และ พ.ต.อ.มนต์ชัย ศรีประเสริฐ รอง ผบก.น.1 ลงบริหารเหตุการณ์ในพื้นที่ชุมนุม”

กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนที่มายังทำเนียบรัฐบาล ตำรวจได้เตรียมไว้ 2 เส้นทางสำหรับผู้ชุมนุม คือ ถนนราชดำเนินใน และถนนราชดำเนินกลาง จนมาถึงแยกผ่านฟ้า แยกออกเป็น 2 เส้นทาง คือ ถนนราชดำเนินนอก ผ่านแยก จปร.แยกมัฆวานรังสรรค์ หรือถนนนครสวรรค์ ผ่านสนามม้านางเลิ้ง แยกสะพานเทวกรรมรังรักษ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานไปยังผู้นำชุมนุม ให้ทราบถึงเส้นทางที่ตำรวจได้กำหนดไว้ ทั้งการเดินทางทำเนียบรัฐบาลและเส้นทางฉุกเฉินทางการแพทย์

ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมใช้ยุทธวิธีเคลื่อนที่แบบดาวกระจายนั้น ขณะนี้ตำรวจเตรียมความพร้อมเรื่องการจัดระบบการจราจร 3 ระดับ การเตรียมความพร้อมด้านการจัดการจราจรทั่วทุกพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ภายในรวมถึงภายนอกด้วย นอกจากนี้ ผบก.จร.ได้เสริมกำลังตำรวจจราจรด้วย ถึงแม้ใช้ยุทธวิธีดาวกระจายจุดไหนถ้าเข้าหลักการว่า แค่กระทบบางส่วนตำรวจก็อนุญาตให้ไป แต่หากเต็มพื้นที่ก็จะพิจารณาปิดการจราจร ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางมาถึงทางแยก

“เส้นทางที่เป็นห่วงมากที่สุด คือ ถนนราชดำเนินใน ถนนราชดำเนินกลาง และถนนราชดำเนินการนอก ถือว่าเป็นเส้นทางหลักที่ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศว่าจะใช้เส้นทางดังกล่าว ในการเคลื่อนที่ไปยังทำเนียบรัฐบาล นอกจากนี้ คือเส้นทางที่เชื่อมต่อกับถนนราชดำเนินทั้ง 3 แห่ง มีทั้งหมด 9 เส้นทางและ 2 สะพาน อาจจะได้รับผลกระทบ ถ้าไม่จำเป็นผู้สัญจรก็ควรหลีกเลี่ยง”

สำหรับจุดคัดกรอง “โควิด” ในส่วน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีจุดคัดกรองทั้งหมด 4 แห่ง หากมีการชุมนุมในพื้นที่อื่นก็จะมีการปรับจุดคัดกรอง

ทั้งนี้ การจะเคลื่อนขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังทำเนียบรัฐบาลต้องแจ้งทางตำรวจ และการเคลื่อนขบวนในลักษณะของการกีดขวางการจราจรต้องได้รับอนุญาตก่อน ขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งจากผู้นำชุมนุม

นอกจากนี้ ได้เตรียมกำลังตำรวจไว้ทั้งหมด 57 กองร้อย หรือประมาณ 8,550 นาย ทั้งหมด 14 จุด เริ่มตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปจนถึงทำเนียบรัฐบาล โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 6 ผลัด ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ในวันพรุ่งนี้ (19 กันยายน 2563) ถึงเวลา 14.00 น. ของวันที่ 20 กันยายน

โดยจะมีจุดที่วางกำลังเป็นพิเศษ 4 กองร้อย 1 จุด คือ พระบรมมหาราชวัง และอีก 3 กองร้อย 4 จุด คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แยก จปร.และสะพานมัฆวานรังสรรค์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo