COVID-19

‘ขุดหลุมศพเหยื่อโควิด’ มาตรการลงโทษ ชาวอินโดฯ ไม่สวมหน้ากากป้องกัน

อินโดนีเซีย เป็นอีกประเทศหนึ่งในอาเซียน ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ

ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม ที่มากสุดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค และผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ทั่วทั้งอินโดนีเซีย นำมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวดเข้ามาใช้ รวมถึง การที่รัฐบาลกลางออกกฎหมาย บังคับให้ประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

indo
Twitter@zerohedge

อย่างไรก็ดี รัฐบาลกลางอินโดนีเซีย เปิดทางให้ส่วนบริหารท้องถิ่น กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายนี้ด้วยตัวเอง ผ่านการประสานงานร่วมของ 3 องค์กร คือกองทัพ ตำรวจ และเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย ตามพื้นที่ต่างๆ ทำให้ในบางพื้นที่ เลือกที่จะลงโทษผู้ฝ่าฝืนเรื่องนี้ ด้วยวิธีการที่ทำให้พวกเขาตระหนัก ถึงพิษภัยของเชื้อไวรัสโควิด-19

ตัวอย่างเช่น  เมืองเชอร์เมในชวาตะวันออก ที่เพิ่งลงโทษชาวบ้าน 8 คน ที่ไม่ยอมสวมหน้ากากอนามัย ขณะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ด้วยการให้ไปขุดหลุมฝังศพ สำหรับผู้ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสนี้

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า  3 องค์กร ที่กำหนดโทษสำหรับผู้ไม่สวมหน้ากากป้องกันในเมืองเชอร์เม มีทางเลือกให้ผู้ฝ่าฝืน ระหว่างการจ่ายค่าปรับจำนวน 150,000 รูเปียะห์ หรือ รับ “บทลงโทษทางสังคม”

นายซูโยโน  เจ้าหน้าที่ของเมืองเชอร์เม ระบุว่า คนส่วนมากเลือกที่จะไม่เสียค่าปรับ และ รับ “บทลงโทษทางสังคม” เเทน ซึ่งโดยปกติแล้ว การลงโทษด้านนี้ อาจจะเป็น  การถูกสั่งให้วิดพื้น หรือทำความสะอาด

อย่างไรก็ดี การขุดหลุมฝังศพ อาจช่วยให้บทเรียนต่อผู้กระทำผิด และให้ประสบการณ์โดยตรงต่อพวกเขา เรื่องความรุนเเรงของโควิด-19 แต่นายซูโยโน ย้ำว่า ผู้ที่ถูกสั่งให้ขุดหลุม จะไม่ได้อยู่ดวย ตอนที่ฝังศพผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด

ขณะที่เว็บไซต์ ยูเอสเอ ทูเดย์  รายงานว่า การลงโทษวิธีนี้เกิดขึ้น หลังจากเมืองเชอร์เม เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานขุดหลุมฝังศพ โดยงานของผู้ถูกลงโทษประกอบด้วยการขุดหลุมศพ และนำไม้กระดานวางที่ก้นหลุม ซึ่งตามประเพณีการฝังศพในอินโดนีเซียนั้น มักจะฝังศพโดยไม่มีโลงศพ และไม่มีการเผาศพ หรือฉีดยารักษาสภาพร่างกายของผู้เสียชีวิต

วิธีการใช้เรื่องราวที่เกี่ยวกับความตาย มาเป็นบทลงโทษนี้ ดูเหมือนจะเป็นมาตรการลงโทษทางสังคม ที่ค่อนข้างได้รับความนิยม จากการที่เมืองอื่นๆ ก็มีการกำหนดบทลงโทษในแนวทางเดียวกัน เช่น ที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศ  ซึ่งในเดือนนี้ เจ้าหน้าที่มีคำสั่งลงโทษให้ชายผู้หนึ่งที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ นั่งในโลงศพต่อหน้าผู้คน

แต่ดูเหมือนว่า การดำเนินมาตรการที่เข้มงวดเช่นนี้ ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยสกัดกั้น หรือควบคุม การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในอินโดนีเซียได้ ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่ยังเพิ่มขึ้นเป็นหลักพันในทุกวัน และล่าสุดนับถึงเมื่อวานนี้ (17 ก.ย.) อินโดนีเซีย รายงานการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน  3,635 คน ทำให้มียอดสะสมผู้ติดเชื้อโควิดอยู่ที่ 232,628  คน ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตโดยรวมอยู่ที่ 9,222  ราย เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 122 ราย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo