Business

ตั้ง ‘สถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น’ ยกระดับเศรษฐกิจ

ยกระดับเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น ส.อ.ท. จัดตั้ง “สถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น” ย้ำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ขยายเครือข่ายธุรกิจ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้จัดตั้ง สถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น ขึ้นเพื่อ ยกระดับเศรษฐกิจ ระหว่าง ไทยและญี่ปุ่น รวมทั้งเน้นย้ำความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย  และเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างสองประเทศ

ยกระดับเศรษฐกิจ

 

สำหรับประเทศไทย และญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์ ยาวนานมากกว่า 130 ปี มีการพัฒนาความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มีการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากในประเทศไทยตลอดระยะกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความเจริญของภาคอุตสาหกรรม และการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี

ทั้งนี้ เป็นที่ยอมรับว่า ประเทศญี่ปุ่น มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่าง สภาอุตสาหกรรมฯ กับประเทศญี่ปุ่น และนักลงทุนญี่ปุ่น ได้พัฒนาในหลากหลายมิติ

ในส่วนภาคเอกชนนั้น มีการหารือกับ สมาคมนักธุรกิจชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ทั้ง Japan Business Federation (Keidanren) และ Kansai Economic Federation (Kankeiren) เพื่อแสวงหาความร่วมมือ ระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะ Kankeiren ได้จัดตั้งสำนักงาน Asia Business Creation Platform ที่กรุงเทพฯ แล้ว

สุพันธุ์ มงคลสุธี 1
สุพันธุ์ มงคลสุธี

ด้นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ยังได้ร่วมมือกับ Japanese Chamber of Commerce (JCC) ในการนำเสนอข้อคิดเห็น และข้อกังวลต่าง ๆ ของนักธุรกิจ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ

การพัฒนาอย่างต่อเนื่องดังกล่าว สภาอุตสาหกรรมฯ จึงเห็นสมควรจัดตั้ง “สถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น” (Thai-Japanese Industrial Cooperation Institute :TJIC) ขึ้น

พร้อมกันนี้่ ได้แต่งตั้งให้ นายจิระพันธ์ อุลปาทร เป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมความร่วมมือ และเป็นศูนย์กลาง ของสภาอุตสาหกรรมฯ ในการติดต่อประสานงาน ส่งเสริมการค้าการลงทุน แลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ ร่วมกับภาครัฐ และหน่วยงานภาคเอกชนของญี่ปุ่น รวมทั้งผลักดันประเด็นต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ระหว่างกัน ให้มากยิ่งขึ้น

ยกระดับเศรษฐกิจ

ด้านนายจิระพันธ์ อุลปาทร ประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่น ยังเป็นหนึ่งในการลงทุนรายใหญ่ที่สุด ของประเทศไทย ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมฯ ได้มีการพบปะกับหน่วยงาน และองค์กรจากประเทศญี่ปุ่น ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนอยู่ตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน ได้มีการหารือ ถึงแนวทางในการส่งเสริมการลงทุน การค้า นวัตกรรม และเทคโนโลยี ร่วมกัน ปัจจุบันนับได้ว่าอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น กระจายอยู่ในภาคการผลิตต่าง ๆ มากมาย หลากหลายสาขา เป็นซัพพลายเชน ที่มีบทบาทสำคัญ ของการผลิตในประเทศ และการส่งออก ทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยจำนวนสูงมาก

สภาอุตสาหกรรมฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ที่จำเป็นต้องจัดตั้ง สถาบันฯ เพื่อกำกับดูแลความร่วมมือ กับประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะ และเป็นการสานต่อความร่วมมือ อย่างเป็นรูปธรรม กับหน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ของประเทศญี่ปุ่น

จิระพันธ์ อุลปาทร
จิระพันธ์ อุลปาทร

หน้าที่ของ สถาบันฯ จะมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ เป็นช่องทางหารือ ระหว่างภาครัฐ และเอกชนของทั้งสองประเทศ และเป็นหนึ่งในกลไก ในการยกระดับสู่ไทยแลนด์ 4.0 พัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve และ New S-Curve อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถการแข่งขัน ของประเทศไทย โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือ ในการพัฒนาบุคลากร ด้านเทคนิควิศวกรรม เพื่อรองรับนโยบาย อุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรม S-Curve ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo