Business

เมื่อ ‘สินเชื่อเสริมพลังฐานราก’ จบไป จะกู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากที่ไหนได้อีกเช็คเลย!

สินเชื่อเสริมพลังฐานราก ปิดการลงทะเบียนแล้ว ตรวจสอบผลการลงทะเบียนง่ายๆ ที่นี่ พร้อมเผยโครงการสินเชื่ออื่นๆ ที่ยังเปิดให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก “โควิด” ลงทะเบียนกู้เงินอีก เช็คเลย!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก “ธนาคารออมสิน” ได้เปิดโครงการ “สินเชื่อเสริมพลังฐานราก” เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่มีอาชีพค้าขาย ประกอบอาชีพอิสระ และผู้มีรายได้ประจำ รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจาก “โควิด” ด้วย “สินเชื่อเสริมพลังฐานราก” ซึ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการดำรงชีพ เพื่อการลงทุน หมุนเวียนในกิจการ ให้วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน (Flat Rate) ระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้ไม่เกิน 3 ปี ที่สำคัญไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ หรือ บุคคลค้ำประกันเงินกู้ อีกทั้งยังปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือไม่ต้องชำระเงินงวดใน 6 เดือนแรกอีกด้วยนั้น

สินเชื่อเสริมพลังฐานราก

โดยล่าสุด “ธนาคารออมสิน” ได้ปิดการลงทะเบียนสินเชื่อดังกล่าวแล้ว หลังมีผู้ยื่นขอสินเชื่อ 2.3 แสนราย ภายใน 2 วันเท่านั้น

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า การปิดลงทะเบียนในครั้งนี้ ถือเป็นการชะลอการลงทะเบียน เพื่อไปตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่แจ้งความประสงค์ขอสินเชื่อในรอบแรก เนื่องจากการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อต้องใช้ระยะเวลา ต่างจากการขอสินเชื่อฉุกเฉิน 1 หมื่นบาท ที่สามารถปล่อยกู้ได้เลย ทั้งนี้ หากมีการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว ยังมีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่ธนาคารกำหนด ธนาคารจะเปิดลงทะเบียนรอบ 2 เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาขอสินเชื่อต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ลงทะเบียน สินเชื่อเสริมพลังฐานราก สามารถตรวจสอบการลงทะเบียนได้โดยคลิกที่เว็บไซด์ ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th หรือ คลิกที่นี่

จากนั้นให้เลื่อนลงมาด้านล่างแล้วกดเลือก ตรวจสอบผลการลงทะเบียน สินเชื่อเสริมพลังฐานราก หรือ คลิกที่นี่

สินเชื่อเสริมพลังฐานราก

จากนั้นให้กรอกข้อมูล หมายเลขบัตรประชาชน และ หมายเลขโทรศัพท์ ( หมายเลขบัตรประชาชนและหมายเลขโทรศัพท์ ต้องเป็นเบอร์และหมายเลขที่ท่านสมัครสินเชื่อเสริมพลังฐานรากธนาคารออมสินครั้งก่อนหน้านี้เท่านั้น) จากนั้นกด ตรวจสอบข้อมูลสมัคร

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ลงทะเบียน สินเชื่อเสริมพลังฐานราก ไม่ทัน หรือไม่ผ่านเกณฑ์ ธนาคารออมสินยังมีสินเชื่ออื่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ได้แก่ สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า (COVID-19) โดยแบ่งเป็น

สำหรับผู้อาชีพอิสระ วงเงินสูงสุด 10,000 บาท

คุณสมบัติ

  • สัญชาติไทย และอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลากู้แล้วอายุต้องไม่เกิน 70 ปี
  • ผู้ประกอบอาชีพอิสระนอกภาคการเกษตร (เช่น พ่อค้าแม่ค้า ลูกจ้าง/รับจ้างทั่วไป ขับแท็กซี่ มัคคุเทศก์ เป็นต้น)
  • มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 30,000 บาท
  • มีที่อยู่อาศัยแน่นอนที่ติดต่อได้
  • ผู้ได้รับผลกระทบ COVID-19

เงื่อนไขสินเชื่อ

  • วงเงิน 10,000 บาท
  • อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) 0.10% ต่อเดือน
  • ไม่ต้องมีหลักประกัน
  • ระยะเวลาให้กู้ไม่เกิน 2 ปี ปลอดการผ่อนชำระหนี้ใน 6 งวดแรก เริ่มชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยในงวดที่ 7 โดยหักเงินชำระจากบัญชีเงินฝากของผู้กู้
  • ระยะเวลาอนุมัติเงินกู้และจัดทำสัญญา สิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2563 หรือจนกว่าจะครบวงเงินโครงการจำนวน 20,000 ล้านบาท

วิธีการรับเงินกู้

  • เมื่อได้รับข้อความ SMS แจ้งผลการพิจารณาเงินกู้ จะจ่ายโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากที่แจ้งไว้ภายใน 3 วัน

เอกสารใช้ในการขอกู้

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • เอกสาร/หลักฐานแสดงการได้รับผลกระทบจาก ไวรัสโคโรนา (COVID-19) (ถ้ามี) เช่น หนังสือแจ้งปิดสถานประกอบการ/ประกอบอาชีพ เอกสารสั่งการจากหน่วยงานราชการ เป็นต้น
  • เอกสารแสดงการชำระหนี้เป็นปกติ กรณีลูกค้ามีประวัติหนี้ค้างชำระ

สามารถลงทะเบียนได้โดย คลิกที่นี่

สำหรับผู้มีรายได้ประจำ วงเงินสูงสุด 50,000 บาท

คุณสมบัติ

  • สัญชาติไทย มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และเมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาที่ชำระเงินกู้ต้องไม่เกิน 65 ปี
  • ผู้มีรายได้ประจำ แต่มีรายได้ลดลงหรือขาดรายได้เนื่องจาก ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา (COVID-19) เช่น พนักงานบริษัทในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือธุรกิจบริการ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เป็นต้น
  • เป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่แน่นอน มีสถานที่ประกอบอาชีพ สามารถติดต่อได้
  • เป็นผู้ฝากเงินประเภทเผื่อเรียกของธนาคาร
  • มีการตรวจสอบรายได้จากกรมสรรพากร (ถ้ามี)

เงื่อนไขสินเชื่อ

  • ให้กู้ตามความจำเป็นและความสามารถในการชำระคืน ไม่เกินรายละ 50,000 บาท
  • อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 0.35 ต่อเดือน
  • ต้องมีหลักประกัน (บุคคลค้ำประกัน 1-2 คน หรือหลักประกัน ประเภทอื่นที่ธนาคารกำหนด)
  • ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้และดอกเบี้ย ไม่เกิน 3 ปี
  • ผ่อนชำระ 36 งวด ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน โดยหักเงินชำระจากบัญชีเงินฝากของผู้กู้
  • ระยะเวลาอนุมัติเงินกู้และจัดทำสัญญา สิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2563 หรือจนกว่าจะครบวงเงินโครงการจำนวน 20,000 ล้านบาท

วิธีการขอสินเชื่อ

  • ลงทะเบียนผ่าน Web Site ธนาคาร กรอกข้อมูลส่วนตัวที่ธนาคารกำหนด
  • ธนาคารจะแจ้งให้มาติดต่อที่สาขา
  • ยื่นเอกสารการขอกู้ที่สาขา
  • ธนาคารพิจาณาเอกสารประมาณ 4-15 วันทำการ ขึ้นอยู่กับหลักประกันและเอกสารคำขอกู้ครบถ้วน

เอกสารใช้ในการขอกู้ ของผู้กู้ / ผู้ค้ำประกัน

1. เอกสารส่วนบุคคล

1.1 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน ใบเปลี่ยนชื่อสกุล (ถ้ามี) ของผู้กู้และคู่สมรส / ผู้ค้ำประกัน

1.2 เอกสารแสดงสถานภาพ เช่น สำเนาใบสำคัญการสมรส (ถ้ามี)

1.3 สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากเผื่อเรียกธนาคาร ออมสิน / บัญชีเงินฝากพื้นฐาน ของผู้กู้

2. เอกสารทางการเงิน

2.1 สลิปเงินเดือน / หลักฐานการรับเงินเดือน เดือนล่าสุด ของผู้กู้และผู้ค้ำประกัน กรณีผู้ค้ำประกันไม่ใช่ผู้มีรายได้ประจำ (ประกอบอาชีพอิสระ) สามารถใช้บัญชีรับ-จ่ายย้อนหลัง 3 เดือนโดยอนุโลม

2.2 เอกสารแสดงการเดินบัญชี (Statement) ย้อนหลัง 3 เดือนของผู้กู้ และเดือนล่าสุดของผู้ค้ำประกัน

สามารถลงทะเบียนได้โดย คลิกที่นี่

นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ยังมีสินเชื่อเพื่อดูแลเกษตรกร ได้แก่ สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับเกษตรกรและครอบครัว โดยผู้ขอกู้ต้องเป็นเกษตรกร หรือ ครอบครัวของเกษตรกร

  • วงเงินกู้สูงสุด : 10,000 บาท
  • ระยะสูงสุด : 2 ปี
  • ดอกเบี้ย : 0.1% ต่อเดือน
  • ธุรกิจ : เกษตร
  • เงื่อนไขเพิ่มเติม : ปลอดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนแรกนับจากวันกู้ กำหนดชำระคืนแล้วเสร็จ ภายใน 2 ปี 6 เดือนนับจากวันกู้
  • วงเงินโครงการ : 20,000 ล้านบาท
  • ยื่นภายใน : 30 ธันวาคม 2563

สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้โดย คลิกที่นี่

สินเชื่อเสริมพลังฐานราก

อย่างไรก็ตาม สำหรับ ผู้ประกอบการ SMEs นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ของแบงก์ชาติ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของเศรษฐกิจไทย แบงก์ชาติได้ออกมาตรการ soft loan เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้

ทั้งนี้ หากท่านเป็นเจ้าของธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท (สำหรับแต่ละสถาบันการเงิน) ท่านอาจได้รับ soft loan โดยแบงก์ชาติ ได้กำชับให้สถาบันการเงินกระจายเงินสินเชื่อนี้อย่างทั่วถึง สาธารณชนสามารถติดตามความคืบหน้าของมาตรการ รวมถึงข้อมูลภาพรวมของลูกหนี้ที่ได้รับ soft loan ของแบงก์ชาติได้จาก ที่นี่

ทั้งนี้ ประกาศ ธปท. ได้กำหนดให้สถาบันการเงินห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากผู้ขอสินเชื่อในกรณีนี้

คุณสมบัติผู้รับสิทธิ์

  • เป็นผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย
  • ไม่จดทะเบียนในตลาดหุ้น และไม่ประกอบธุรกิจทางการเงิน
  • ไม่เป็น NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
  • มีวงเงินสินเชื่อเพื่อธุรกิจ (O/D, working cap, term loan, trade finance) รวมทั้งกลุ่มธุรกิจกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
  • ถ้าธุรกิจมีวงเงินกู้อยู่มากกว่า 1 สถาบันการเงิน ก็จะได้รับสิทธิ์นี้สำหรับแต่ละสถาบันการเงินที่มีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 500 ล้านบาท

สิทธิ์ที่จะได้รับ

  • สินเชื่อ soft loan วงเงินไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
  • อัตราดอกเบี้ย ไม่เกิน 2% ต่อปี นาน 2 ปี โดยคิดตามวงเงินที่เบิกใช้จริง
  • ฟรี ดอกเบี้ย 6 เดือนแรก โดยจ่ายคืนเฉพาะเงินต้น
  • ฟรี ค่าธรรมเนียมทุกประเภท
  • รัฐบาลค้ำประกันสินเชื่อให้ 70% ในกรณีที่มีวงเงิน ณ 31 ธันวาคม 2562 ไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือ 60% ในกรณีที่มีวงเงินเดิมเกิน 50 ล้านบาท
  • ทั้งนี้ ในบางกรณี สถาบันการเงินอาจพิจารณาให้สินเชื่อเพิ่มเอง (วงเงินเกินกว่ายอดสินเชื่อคงค้างตามสิทธิ์) และมีการกำหนดเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป เช่น อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า 2% ในส่วนของสินเชื่อเพิ่ม

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ยังไม่มีวงเงินกู้กับสถาบันการเงิน หรือต้องการวงเงินกู้เพิ่มเติม สามารถหารายละเอียดมาตรการความช่วยเหลืออื่น ๆ เช่น เงินกู้ soft loan ของธนาคารออมสิน หรือสินเชื่อจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ๆ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo