Politics

‘กสม.’ ร่อนแถลงการณ์ ห่วงชุมนุม 19 ก.ย. วอนทุกฝ่าย ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

ห่วงชุมนุม 19 ก.ย. รุนแรง ละเมิดสิทธิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องทุกฝ่าย ยึดรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และมาตรา 44 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ ห่วงชุมนุม 19 ก.ย. เรื่อง ข้อห่วงใยต่อสถานการณ์การชุมนุม ในวันที่ 19 กันยายน 2563  โดยมีเนื้อหาระบุว่า

ห่วงชุมนุม 19 ก.ย.

ตามที่ปรากฏสถานการณ์การชุมนุม และเรียกร้องทางการเมือง ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา และกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้เผยแพร่ข่าวว่า จะจัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง ในวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุม ของกลุ่มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และมีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งว่า การใช้เสรีภาพในการชุมนุม การแสดงความคิดเห็น และการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในมุมมองที่แตกต่างกัน สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ การละเมิดกฎหมาย ที่มีความรุนแรง และส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน

กสม. จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ตระหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชน และแนวทางปฏิบัติสากล ที่เกี่ยวข้องกับ การใช้เสรีภาพในการชุมนุม และการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการจัดการการชุมนุม ให้เป็นไปด้วยความสงบและสันติวิธี ดังนี้

แถลงการณ์ 1

1. การชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ การแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน อันได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยเป็นภาคี

การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ จะกระทำมิได้ รัฐพึงงดเว้นการเข้าแทรกแซงด้วยประการใด ๆ และดูแลอำนวยความสะดวก ตามสมควรแก่ประชาชน

อย่างไรก็ตาม การใช้เสรีภาพในการชุมนุม และการแสดงความคิดเห็น จะต้องเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย และคำนึงถึงการเคารพสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น เนื่องจากเสรีภาพในเรื่องดังกล่าว มิใช่เป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรอง และคุ้มครองไว้อย่างบริบูรณ์

แต่อาจถูกจำกัดได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิ หรือเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือป้องกันสุขภาพของประชาชน ตามนัยมาตรา 34 และมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งมีสาระสำคัญที่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 และข้อ 21

2. เพื่อให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนดังกล่าวข้างต้น กสม.จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

2.1 รัฐบาล หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง

(1) ควรวางนโยบายและมาตรการที่ชัดเจน ในการรักษาความสงบเรียบร้อย และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ อาทิ การจัดสถานที่และบริการขั้นพื้นฐาน การจัดจราจร และการดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุม

การจำกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และการแสดงออก ซึ่งความคิดเห็น อันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ควรถือเป็นข้อยกเว้นที่พึงกระทำ เฉพาะในกรณีจำเป็น อันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ภายในกรอบของกฎหมายเท่านั้น และไม่ควรมีการสร้างเงื่อนไข อันอาจเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรง

(2) ควรหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ในการชุมนุม หากมีความจำเป็นที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อยุติเหตุการณ์การละเมิดกฎหมาย และมีความรุนแรงอันอาจเกิดขึ้นในการชุมนุม ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับความจำเป็นและความได้สัดส่วน โดยจะต้องกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ประกาศเตือนให้ผู้ชุมนุม ได้ทราบล่วงหน้าอย่างชัดแจ้ง รวมถึงชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็น ที่ต้องมีการนำมาตรการนั้น ๆ มาใช้

(3) ควรนำหลักการสำคัญ 10 ประการ สำหรับการจัดการการชุมนุมอย่างเหมาะสม ที่จัดทำโดย ผู้เสนอรายงานพิเศษ แห่งองค์การสหประชาชาติ มาปรับใช้ตามสมควรแก่กรณี อาทิ รัฐต้องเคารพ และดูแลสิทธิทุกประการ ของผู้ที่เข้าร่วมในการชุมนุม การจำกัดการชุมนุมโดยสันติใด ๆ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล การเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม จะต้องไม่แทรกแซงสิทธิในความเป็นส่วนตัวหรือสิทธิอื่น ๆ ที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำได้ เป็นต้น

2.2 ผู้จัดการชุมนุมและผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุม

(1) ผู้จัดการชุมนุมและผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมควรตระหนักว่า เสรีภาพในการชุมนุมมิใช่เป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้อย่างบริบูรณ์ และพึงใช้เสรีภาพดังกล่าวด้วยความระมัดระระวังให้อยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ มีการจัดระบบการควบคุมดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ป้องกันมิให้เกิดความรุนแรงหรือสร้างเงื่อนไขที่อาจทำให้เกิดความรุนแรง รวมทั้งคำนึงถึงการเคารพสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

(2) ผู้จัดการชุมนุมและกลุ่มผู้ชุมนุมควรมีหน้าที่ร่วมกัน ทำให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนและแนวทางสันติวิธี หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่มีลักษณะยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรง สร้างความเกลียดชังหรือคุกคามต่อผู้มีความเห็นต่าง

2.3 สื่อมวลชนและประชาชนทุกภาคส่วน

(1) สื่อมวลชนควรนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง ครบถ้วนรอบด้าน เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อย่างเป็นอิสระ เที่ยงตรง ระมัดระวังไม่ให้มีการเสนอข่าว หรือการแสดงความเห็น หรือเนื้อหาใด ๆ ที่จะทำให้เกิดความเกลียดชังหรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรง

(2) ประชาชนทุกภาคส่วนควรติดตามสถานการณ์อย่างรอบด้าน โดยรับฟังข้อมูลข่าวสารจากกลุ่มต่าง ๆ ที่แสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งความเชื่อและความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน อย่างระมัดระวัง และเคารพในสิทธิและเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกที่แตกต่างกันของทุกฝ่าย

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะพึงตระหนักและเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งกันและกันอย่างเคร่งครัด ตลอดจนแสวงหาแนวทาง หรือจัดให้มีกระบวนการ เพื่อหาข้อสรุป อันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ตามแนวทางสันติวิธี อันสอดคล้องกับวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย โดยคำนึงถึงประโยชน์ และความสงบสุขของประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo