Economics

‘หอการค้า’ ชงรัฐฟื้น ‘ชิมช้อปใช้’ กระตุ้นการบริโภคโค้งสุดท้าย!

“ม.หอการค้าไทย” คงเป้าจีดีพีปีนี้ติดลบ 7.5 – 8.5% มองไตรมาส 3 ดิ่ง 8-10% เสนอรัฐฟื้น “ชิมช้อปใช้” หวังกระตุ้นการบริโภคโค้งสุดท้ายของปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ยังคงประมาณการณ์จีดีพีปีนี้ที่ติดลบ 7.5-8.5% คาดว่าจีดีพีไตรมาส 3 จะอยู่ที่ลบ 8-10% และไตรมาส 4 จะอยู่ที่ลบ 6-8%

สำหรับมาตรการรักษาระดับการบริโภคในประเทศ วงเงินรวม 51,000 ล้านบาท ที่ ศบศ.เห็นชอบล่าสุด แบ่งเป็นโครงการคนละครึ่ง 30,000 ล้านบาท และมาตรการเพิ่มค่าครองชีพในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 21,000 ล้านบาท นั้น หากมีการใช้วงเงินเต็มจำนวนจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบอย่างน้อย 2 – 3 รอบ หรือคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 150,000 – 200,000 ล้านบาท ทำให้จีดีพีเฉพาะไตรมาส 4/63 ติดลบลดลงประมาณ 2 – 3%

รถเข็น ช้อปปิ้ง17963

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามมาตรการดังกล่าวว่าจะประสบความสำเร็จและมีการใช้เม็ดเงินครบทั้ง 51,000 ล้านบาทหรือไม่ ขณะที่การชุมนุมใหญ่วันที่ 19 กันยายนนี้ ยังคงต้องรอประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่าการชุมนุมจะยืดเยื้อหรือบานปลายหรือไม่

อย่างไรก็ตาม มองว่า รัฐบาลควรนำมาตรการ “ชิมช้อปใช้” กลับมาอีกครั้ง เพราะจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของคนรายได้ระดับปานกลาง และทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 30,000 – 50,000 ล้านบาท และต้องเร่งพิจารณามาตรการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ เน้นการเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง และเป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศ ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจไทยถูกออกแบบโครงสร้างประเทศให้ขยายตัวได้ด้วยการท่องเที่ยว หากทำได้ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไตรมาส 4 และยังเป็นการทดสอบระบบป้องกันและมาตรการที่จะใช้กำกับดูแลของรัฐบาลด้วย

ขณะที่การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มองว่าจะส่งผลดีในภาพรวม ทำให้ไทยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ หรือ 0.50% ต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อสภาพคล่องและการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ และการออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนต่าง ๆ แต่การที่ดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในกรอบ 31.00 – 31.40 บาทต่อดอลลาร์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo