Business

ศบศ. ปรับปรุง ‘สมาร์ทวีซ่า-อีลิทการ์ด’ เชื่อมโยงท่องเที่ยว การลงทุน

ปรับปรุง สมาร์ทวีซ่า-อีลิทการ์ด ศบศ. เคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เชื่อมโยงท่องเที่ยว ควบคู่การลงทุน เพิ่มสิทธิประโยชน์ดึงนักลงทุน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ครั้งที่ 3/2563 ได้เห็นชอบในหลักการ ปรับปรุง สมาร์ทวีซ่า-อีลิทการ์ด เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ

ปรับปรุง สมาร์ทวีซ่า-อีลิทการ์ด

สำหรับที่ประชุม ได้เห็นชอบในหลักการ ข้อเสนอการปรับปรุงหลักเกณฑ์ การอนุญาตให้ถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร (Permanent Resident Permit) และ แนวทางการปรับปรุง มาตรการตรวจลงตรา ประเภทคนอยู่ชั่วคราว เป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบการวิสาหกิจ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ ได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย พิจารณาจัดทำรายละเอียด เพิ่มเติมแก้ไขปรับปรุง สมาร์ทวีซ่า ให้เชื่อมโยงกับการลงทุน อาทิ การซื้ออาคารชุด และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์เงินขั้นต่ำ และสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับ

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กลับไปพิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติม อีลิท การ์ด เชื่อมโยงการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการลงทุนด้วย

พร้อมกันนี้ ยังได้มอบหมายให้ ศบค. ปรับปรุงแนวทาง เงื่อนไข สำหรับกลุ่มนักธุรกิจ และกลุ่มวิศวกร ที่มีฐานการผลิต อยู่ที่ประเทศไทย ที่จะขอเดินทางเข้ามา เพื่อปรับปรุงโรงงาน สายพานการผลิต ให้มีความสะดวกและมากขึ้น

ส่วนกรณีแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (STV) ตามที่ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการแล้วเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา จะมีการเร่งรัด มาตรการเสริมต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้ประชาชน ได้รับผลโยชน์สูงสุด ภายใต้การดำเนินการอย่างรัดกุมรอบคอบ

สำนักนายก

นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบหลักการ มาตรการรักษาระดับการบริโภค ภายในประเทศ และเพิ่มกำลังซื้อ ให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย และประชาชนทั่วไป ตามข้อเสนอของ กระทรวงการคลัง โดยแบ่งเป็น 2 โครงการ ได้แก่

  • โครงการเพิ่มกำลังซื้อ ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อการอุปโภคบริโภค ที่จำเป็น จำนวน 500 บาทต่อคน ระยะเวลา 3 เดือน คน ตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม 2563 มีผู้ถือสิทธิจำนวน 14 ล้านคน
  • โครงการคนละครึ่ง โดยภาครัฐจะร่วมจ่าย (Co-pay) เน้นช่วยเหลือประชาชน ในระดับฐานราก ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 10 ล้านคน โดยจะเปิดลงทะเบียน ช่วงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งคาดว่าจะมีการใช้จ่าย ตั้งแต่สิ้นเดือนตุลาคม ถึงธันวาคม ไม่เกินคนละ 3,000 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย หาบเร่ แผงลอย ที่ไม่ใช่นิติบุคคล หรือ ร้านสะดวกซื้อธุรกิจแฟรนไชส์

ขณะเดียวกัน ยังเห็นชอบข้อเสนอแนะ การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา (Credit term) ในประเทศไทย เพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม SMEs ที่เป็นผู้จัดส่งสินค้า และ วัตถุดิบการผลิต แก่ธุรกิจขนาดใหญ่

ในเรื่องดังกล่าว ได้เสนอให้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กำหนดมาตรฐานระยะเวลา Credit term ที่เหมาะสมช่วงระยะเวลา 30 – 45 วัน ตามประเภทธุรกิจ โดยให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย พร้อมกำหนดบทลงโทษ กรณียกเว้น และ กลไกการติดตามตรวจสอบด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเผยว่า จะได้มีการเร่งรัด นำผลการประชุมวันนี้ เพื่อเข้าสู่การพิจารณา ของคณะรัฐมนตรี ให้ทันภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้การดูแลพี่น้องประชาชนได้รวดเร็วต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo