Telecommunications

นักวิชาการเตือนรัฐเตรียมรับมือ 3 ความท้าทาย 5G

 

blogger 336371 1280

นักวิชาการติง สถานการณ์วงการโทรคมนาคมปัจจุบันสะท้อนหน่วยงานภาครัฐไร้แผนรับมือปัญหา ชี้หากไม่กำหนดสเปคตรัมโรดแมปให้ชัดเจน จะบริหารจัดการเน็ตเวิร์กในอนาคตได้ยากมากขึ้น โดยเฉพาะการรับมือการมาถึงของเทคโนโลยี 5G

โดยผู้ที่ออกมาติงถึงปัญหาดังกล่าวในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมคือ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงโทรคมนาคม และผู้อำนวยการโครงการ CU Transformation จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เล่าย้อนถึงเหตุการณ์การเยียวยาผู้บริโภคในรอบก่อนหน้าในงานเสวนา the101.world Digital Dialouge ว่า “เหตุการณ์ที่เกิดการเยียวยาตอนนั้น เป็นเพราะจัดการประมูลไม่ทัน จริง ๆ ก็คือเยียวยา กสทช. นั่นแหล่ะ ระเบียบนี้ถ้าดูตามเนื้อผ้าคือ บอกว่าให้ใช้ไปก่อน เงินก้อนที่เกิดขึ้นมาก็ให้หักค่าใช้จ่ายไว้ก่อน ที่เหลือส่งคืน กสทช. แต่ถ้าดูพื้นฐานกฎหมายแล้ว ไม่มีอะไรถูกต้องอะไรสักอย่าง คือกฎหมายบอกว่า คลื่นความถี่จะใช้ได้ต้องมีการจัดสรร และการจัดสรรก็คือการประมูล จู่ ๆ กสทช. มีอำนาจอะไรไปบอกให้คุณใช้คลื่นไปก่อน ก็ไม่มีอำนาจ จริง ๆ ผมตั้งข้อสังเกตนี้มานานแล้ว แต่ทุกคนก็มองว่าให้ผู้บริโภคใช้งานได้ก็เยียวยากันไป”

“สุดท้าย หลังจาก คสช. เข้ามามีอำนาจไม่นาน ได้มีการออกประกาศฉบับหนึ่งบอกว่าให้ชะลอการประมูล และให้เยียวยาไปตามระเบียบนี้ เท่ากับทำให้ระเบียบนี้ถูกต้องตามกฎหมาย”

อย่างไรก็ดี สำหรับสถานการณ์ในขณะนี้ ดร.สุพจน์ ชี้ว่า สังคมให้ความสนใจ “ผิดจุด” ในสองประเด็น

1 e1536933036821
ดร.สุพจน์  เธียรวุฒิ

“ประเด็นแรกคือ ตอนนี้เราไปโฟกัสว่าดีแทคจะได้หรือไม่ได้เยียวยาฯ แต่จริง ๆ ต้องถามว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่อะไร และการจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตใหม่ให้แล้ว เสร็จคืองานของใคร มันคือหน้าที่ กสทช. เพราะฉะนั้น กสทช. จะมาอ้างว่า ครั้งก่อนจัดประมูลไม่ได้ ครั้งนี้จัดประมูลได้แล้วก็จบกัน ดีแทคไม่เข้า เพราะฉะนั้นดีแทคไม่ได้รับการเยียวยา ตราบใดที่ กสทช. จัดประมูลแล้วไม่มีผู้ชนะการประมูล ไม่มีผู้ได้รับใบอนุญาตใหม่ ถือว่า กสทช. ยังทำหน้าที่ของตนเองไม่ครบถ้วนนะครับ”

“ระเบียบนี้ผมเชื่อว่าบังคับได้ และต้องมีการเยียวยา จริง ๆ ดีแทคไม่ต้องไปขอรับการเยียวยาเลย การเยียวยาต้องมาเอง”

“สองคือ ในเงื่อนไขเพิ่มเติมของ กสทช. ระบุไว้ว่า ว่าถ้าดีแทคไม่เข้าร่วมการประมูลก็จะไม่ได้รับสิทธิเยียวยา คืออุตส่าห์เขียนไว้ดิบดีที่แท้ก็ไม่ได้คำนึงถึงผู้บริโภคเลย”

ทั้งนี้ การมาถึงของเทคโนโลยีเครือข่าย 5G จะทำให้วงการโทรคมนาคมพลิกโฉมไปจากปัจจุบันนี้อีกมาก โดย ดร.สุพจน์ได้คาดการณ์ว่าจะมี 3 ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ได้แก่

1. มีโอกาสเกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาในตลาด ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่ต่ำ กลาง หรือสูง
2. 5G จะไม่ใช่เรื่องของโอเปอเรเตอร์เป็นผู้ลงทุนสร้างโครงข่ายแล้วใคร ๆ ก็มาใช้เหมือนในอดีต เพราะ 5G คือการติดเซลล์ไซต์อันเล็ก ๆ เชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย รอบนี้ 5G จะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากหลายภาคส่วนที่อยากจะทำ และมาร่วมลงทุนกับโอเปอเรเตอร์ – รัฐให้การสนับสนุน
3. เครือข่าย 5G มาพร้อมเทคโนโลยีแบบใหม่ ที่เรียกว่า Software Define Network คือในเน็ตเวิร์กเดียวสามารถมีผู้ให้บริการหลายรายได้ ไม่จำเป็นต้องไปลงทุนโครงข่ายทั้งหมดคนเดียว ดังนั้นจะได้เห็นภาพของดังกล่าวเกิดขึ้นแน่นอน

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight