Business

ราชกิจจาประกาศแล้ว ห้ามนำ ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ เข้าประเทศ

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสินค้าต้องห้าม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศแล้ว ห้ามนำเข้าประเทศ มีผลตั้งแต่ 15 กันยายน เป็นต้นไป

เว็บไซค์ ไทยคู่ฟ้า โพสต์เพจเฟซบุ๊ก การห้ามนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาในราขอาณาจักรไทย เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยระบุว่า

ขยะอิเล็กทรอนิกส์

“รู้ไว้..ห้ามนำ ขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าประเทศ

#ไทยคู่ฟ้า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ กระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสินค้าที่ต้องห้าม ในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข คุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน และให้การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2563 เป็นต้นไป

ขยะอิเล็กทรอนิกส์คืออะไรบ้าง?

  • ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และ อิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ (ไม่รวมเศษจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) ที่มีส่วนประกอบ ได้แก่ ตัวเก็บประจุไฟฟ้า และ แบตเตอรี่อื่น ๆ
  • สวิทซ์ ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบ ในการทำงาน
  • เศษแก้ว จากหลอดรังสีแคโทด และ แอกติเวเต็ดกลาสอื่น ๆ
  • ตัวเก็บประจุไฟฟ้า ที่มีสารพีซีบี หรือ ที่ปนเปื้อนด้วย แคดเมียม ปรอท ตะกั่ว โพลีคลอริเนทเต็ดไบฟีนิล

ผู้สื่อข่าวรายงงานว่า ปัจจุบัน ปัญหาการจัดการ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในโลกยุคดิจิทัล ที่มีการพัฒนาอุปกรณ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ตามเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ โดยในปี 2562 เป็นปีที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยมีปริมาณถึง 53.6 ล้านตัน โดยเพิ่มขึ้นถึง 21% จากปี 2557

ความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีทุกวันนี้ เป็นส่วนเร่งสำคัญ ที่ทำให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อยู่ในสภาพตกรุ่นเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีอัตราการเปลี่ยนเครื่องบ่อยที่สุด

w644 1

เห็นได้จาก อายุการใช้งานของเครื่องคอมพิวเตอร์ปัจจุบัน อยู่ระหว่าง 3-5 ปี ขณะที่โทรศัพท์มือถือมีอายุใช้งานเฉลี่ย 18 เดือน อายุการใช้งานบวกกับจำนวนผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลกนั้น กำลังเป็นปัจจัยที่เพิ่มขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปพร้อมๆ กัน

ที่น่าเป็นห่วงคือ จากปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมด มีเพียง 17% เท่านั้น ที่ถูกนำไปรีไซเคิล ส่วนที่เหลือ ไปกองอยู่ในกองขยะ หรือ ไม่มีการจัดเก็บเป็นระบบ

ขณะที่ Global e-Waste Monitor 2020 รายงานการคาดการณ์ที่ว่า ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในปี 2576 และจะเป็นอันตราย ต่อสุขภาพของมนุษย์ ทั้งอันตรายโดยตรง ต่อบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับขยะ และโดยอ้อมจากผลที่เกิดขึ้น กับสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกัน รายงานยังพบว่า สารปรอทกว่า 50 ตันติดอยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่มีการติดตามอย่างเป็นระบบ และส่วนใหญ่ จะถูกปล่อยกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม โดยสารปรอทนั้น เป็นสารนูโรท็อกซิน ซึ่งจะส่งผลต่อสมอง และสร้างความเสียหาย ต่อการพัฒนาการจดจำของเด็กๆ

สำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ 32% เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่น กล้องวิดีโอ ของเล่น เครื่องปิ้งขนมปัง ที่โกนหนวดไฟฟ้า รองลงมา 24% เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น เครื่องครัว เครื่องถ่ายเอกสาร รวมถึงแผ่นโซลาร์เซลล์

ส่วนเอเชียคือ ทวีปที่สร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด แต่ถ้าคิดปริมาณต่อประชากร 1 คน ชาวยุโรปผลิต ขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด และมากเป็น 3 เท่าของคนเอเชีย

ผู้เชี่ยวชาญยังคาดการณ์ว่า ดีมานด์ต่อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นำไปสู่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศ ที่ชนชั้นกลางเติบโต และมีกำลังซื้อสูงขึ้น ประชากรที่เคยเข้าไม่ถึง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอดีต ปัจจุบันสามารถซื้อได้แล้ว

อ่านประกาศฉบับเต็มที่นี่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo