Telecommunications

ดีแทค-CAT เซ็นสัญญาพันธมิตรธุรกิจ 3 พันล้านต่อปีหลังหมดสัมปทาน

ดีแทค-กสท โทรคมนาคม เซ็นสัญญาพันธมิตรธุรกิจระยะยาวหลังหมดสัมปทาน  เช่าใช้เสา 8,815 แห่งทั่วไทย พร้อมใช้อุปกรณ์โครงข่ายโทรคมฯ ลูกค้าดีแทคใช้งานต่อเนื่อง  ส่วน CAT ได้ต่อยอดธุรกิจสร้างแหล่งรายได้ใหม่

ดีแทค dtac กสท catนางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยว่า ดีแทค ได้บรรลุข้อตกลงในการเซ็นสัญญาบริการเสาโทรคมนาคมและอุปกรณ์โทรคมนาคมระยะยาว กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT  เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจหลังหมดสัมปทาน

“ความร่วมมือนี้ นับเป็นครั้งแรกของวงการโทรคมนาคมไทย และเพื่อลูกค้าดีแทค”

โดยดีแทค และ กสท โทรคมนาคม ได้ลงนาม 2 สัญญา ก่อนหมดสัมปทาน คือ  1.สัญญาระงับข้อพิพาทและให้บริการเกี่ยวกับเสาโทรคมนาคม และ 2.สัญญาการขอใช้อุปกรณ์โทรคมนาคม  ทั้งนี้ เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยต่อไป ข้อตกลงทั้ง 2 สัญญา ถือเป็นความชัดเจนในการประกอบธุรกิจของทั้งสองฝ่ายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หมดความเสี่ยงและทำให้ใช้งานเสาโทรคมนาคมและอุปกรณ์ได้อย่างต่อเนื่อง

จากข้อตกลงระงับข้อพิพาทดีแทคจะทำการโอนเสาโทรคมนาคมที่สร้างไว้ระหว่างสัมปทานให้กับ กสท โทรคมนาคม จะให้ “ดีแทค ไตรเน็ต” ใช้บริการเสาโทรคมนาคมดังกล่าวจำนวน 8,815 แห่งทั่วประเทศ โดยจะชำระค่าขอใช้เสาโทรคมนาคมล่วงหน้า ณ วันลงนามในสัญญาให้กับ  กสท โทรคมนาคม จำนวน  3,200 ล้านบาท และจะชำระค่าบริการทั้ง 2 สัญญามูลค่า 3,000 ล้านบาทต่อปี  สัญญาระยะเวลาขั้นต้น 8 ปี และต่ออายุได้

“ลูกค้าดีแทคสามารถใช้งานหลังหมดสัมปทานและในช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทาน”

ดีแทค dtac กสท cat

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการลงนามในสัญญาในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของผู้ให้สัมปทานและผู้รับสัมปทานคลื่นความถี่ที่ร่วมธุรกิจกันมายาวนาน สู่บทบาทพันธมิตรธุรกิจต่อเนื่อง  ที่ผ่านมา CAT ได้มุ่งสู่พัฒนาโครงข่ายและโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และกระจายไปสู่การพัฒนาประเทศรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ประชาชน และความมั่นคงของประเทศชาติ

“เป็นการร่วมลงนามกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นครั้งแรกในไทยสู่ความร่วมมือที่เป็นพันธมิตรในเชิงกลยุทธ์”

สัญญาดังกล่าวยังทำให้เสาโทรคมนาคมซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์โครงข่ายโทรคมนาคมภายใต้สัญญาสัมปทานซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของประเทศให้สามารถนำมาใช้โดยเกิดประโยชน์ทั้งในการด้านการให้บริการแก่ประชาชนและการสร้างรายได้เพื่อนำมาพัฒนาองค์กรและประเทศในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของชาติ

สำหรับข้อตกลงในสัญญาดังกล่าว กสท โทรคมนาคม จะให้ ดีแทค ไตรเน็ต  เป็นผู้ดูแลรักษาเสาโทรคมนาคมทั้งหมด เพราะเป็นผู้ที่ดำเนินการติดตั้งจึงมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการสื่อสาร และยังมีประสบการณ์โดยตรงในการดูแลเสาโทรคมนาคมดังกล่าวมากว่า 20 ปี

“ครั้งนี้นับเป็นการต่อยอดภาพรวมของธุรกิจและสร้างรายได้ใหม่ให้กับ CAT ที่ผ่านมาเราเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลและโทรคมนาคมหลายรูปแบบ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ การให้บริการเสาและอุปกรณ์โทรคมนาคมในครั้งนี้ จึงเป็นแนวทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายร่วมกันอย่างลงตัว”

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight