Politics

โควิดระบาดรุนแรง! ‘หมอธีระ’ ชี้ยอดติดเชื้อทั่วโลกจ่อทะลุ 30 ล้านคน

โควิดระบาดรุนแรง “หมอธีระ” เผยยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 29,403,983 คน ยอดเสียชีวิตอยู่ที่ 931,639 คน ระทึก! ทั่วโลกจะทะลุ 30,000,000 คนในอีกไม่ถึง 3 วัน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat รายงาน ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกวันนี้ 15 ก.ย. โดยระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 15 กันยายน 2563 ติดเพิ่มอีก 250,140 คน ยอดติดเชื้อรวมตอนนี้ 29,403,983 คน ยอดตายรวม 931,639 คน

  • อเมริกา ติดเพิ่ม 37,809 คน รวม 6,744,028 คน
  • อินเดีย ติดเพิ่ม 81,911 คน รวม 4,926,914 คน ตายเพิ่มเกินพัน
  • บราซิล ติดเพิ่ม 15,155 คน รวม 4,345,610 คน
  • รัสเซีย ติดเพิ่ม 5,509 คน รวม 1,068,320 คน

โควิดระบาดรุนแรง

  • อันดับ 5-10 ยังคงเป็นเปรู โคลอมเบีย เม็กซิโก แอฟริกาใต้ สเปน และอาร์เจนตินา ติดกันเพิ่มราวพันถึงหมื่นคนต่อวัน ที่น่าห่วงตอนนี้คือเปรู ติดเพิ่มไปถึง 11,028 คน ส่วนแอฟริกาใต้ตอนนี้กดมาต่ำกว่าพันนิดหน่อย
  • ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ อิหร่าน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ยังติดกันหลักพันถึงหลายพันต่อวัน บางประเทศประชาชนเรียกร้องให้รัฐล็อคดาวน์เมืองเพื่อคุมการระบาดอีกครั้ง
  • หลายประเทศในยุโรป รวมถึงแคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเมียนมาร์ ติดกันหลักร้อยถึงหลายร้อย
  • ส่วนจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และออสเตรเลียติดกันหลักสิบ และนิวซีแลนด์ติดหลักหน่วย
  • …อินเดียจะทะลุ 5,000,000 คนพรุ่งนี้
  • …เมียนมาร์ล่าสุดเพิ่มอีกถึง 263 คน ยอดติดเชื้อรวมจะแซงไทยในอีก 2 วันข้างหน้า
  • …ส่วนทั่วโลกจะเลย 30,000,000 คนในอีกไม่ถึง 3 วัน

ฉากทัศน์ที่ไทยจะเลือกเป็นในอนาคตอันใกล้นั้น มีปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลอยู่ 3 ประการ ได้แก่

1. มียารักษาที่มีประสิทธิภาพไหม?

2. มีวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพไหม?

3. มีนโยบายเสี่ยงต่อการเปิดรับเชื้อเข้ามามากน้อยเพียงใด?

ในระยะเวลาอันใกล้ อาจมีวัคซีนป้องกันได้ แต่ส่วนตัวแล้วคาดว่า จะมีประสิทธิภาพที่ไม่สูงนัก น่าจะไม่เกิน 50-60% และอาจต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะผลิตและแจกจ่ายเพื่อฉีดได้ โดยจะไม่พอสำหรับทุกคน อาจได้เฉพาะกลุ่มเสี่ยงก่อน ส่วนยายังไม่เห็นแนวโน้มเท่าใดนัก

หากพิจารณาการคาดการณ์ข้างต้นแล้ว จะพบว่า ปัจจัยที่สามคือเรื่องนโยบายเสี่ยงต่อการเปิดรับเชื้อจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศนั้นคือ ตัวโจ๊กเกอร์ที่แท้จริงที่จะเปลี่ยนเกมส์ และเปลี่ยนชะตาในระยะยาว

ถ้าไทยเปลี่ยนสนามของตัวเองให้เหมือนหลายประเทศทั่วโลก ที่จะเป็นแดนดงโรค หรือบางคนชอบใช้คำหรูๆ ดูดี๊ดีว่า ดินแดนที่มี COVID-19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic area) การใช้ชีวิตของประชาชนในอนาคต ท่ามกลางการที่ยังไม่มียารักษาที่มีประสิทธิภาพ และวัคซีนมีไม่ทั่วถึงและยังไม่ได้ประสิทธิภาพพอที่จะกันการระบาดในระดับชุมชนได้นั้น จะเป็นเกมส์ใช้ชีวิตแบบ “รัสเซียนรูเลตต์” ทั้งแบบตั้งใจและแบบตกกระไดพลอยโจน

กล่าวคือ ตัวใครตัวมัน หากป้องกันตัวเองได้ก็รอดไป ส่วนใครไม่ป้องกันตัวเอง รักอิสระเสรี ชอบเสี่ยง ก็มีโอกาสติดเชื้อ และหากแจ็คพอตเป็นรุนแรงและตาย ก็ถือซะว่า “โชคร้าย”

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่จบแค่นั้น เพราะหากไวรัสยังคงความสามารถในการแพร่กระจายได้เร็วเช่นนี้ คนที่พยายามป้องกันตัวอยู่เสมอตามวิสัยที่ตนเองทำได้นั้นจะยังคงได้รับผลกระทบจากคนที่ละเลยเพิกเฉยแบบตกกระไดพลอยโจน เพราะการป้องกันแต่ละวิธีไม่ใช่ว่าได้ผล 100% การแพร่จึงยังเป็นไปในลักษณะแบบปลาเน่าตัวเดียวเหม็นไปทั้งข้อง และการระบาดหนักจะปะทุขึ้นมาเป็นระลอกๆ ตราบใดที่ วัคซีนยังไม่สามารถกระจายไปได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อยหลายต่อหลายปี…

การสูญเสียชีวิต และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะมีโอกาสสูงเกินกว่าที่คาด และความขาดแคลนทรัพยากรจะตามมา

…ฉากที่กล่าวถึงนี้ จะไม่เกิดขึ้น หากสามารถคุมไม่ให้เกิดนโยบายเสี่ยงที่จะเปลี่ยนไทย ไปเป็นแดนดงโรคระยะยาว

นโยบายเสี่ยงที่กล่าวถึงคือ การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ท่ามกลาง โควิดระบาดรุนแรง ทั่วโลกเช่นนี้

ถามว่าจะพิจารณาเปิดรับได้เมื่อใด? คำตอบคือ เมื่อสถานการณ์การระบาดทั่วโลกดีขึ้น และเมื่อประเทศต่างๆ เริ่มได้อาวุธมาคุมการระบาดของประเทศตนเองได้ระยะหนึ่ง

และที่สำคัญ คือ ต่อให้การระบาดดีขึ้น แต่ไวรัสจะยังไม่หายไปจากโลก ดังนั้นระบบ กลไก และรูปแบบของการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเดินทางของประเทศ และของโลกนั้น จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปก่อนจะดำเนินการ

ระบบ กลไก และรูปแบบเดิมในอดีต จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชนทุกคนในสังคม การท่องเที่ยวเชิงกำกับจำเป็นต้องได้รับการคิด วางแผน และนำไปใช้วงกว้าง ควบคู่ไปกับระบบป้องกัน และประกันความเสี่ยง ทั้งต่อตัวนักท่องเที่ยว ตัวผู้ประกอบการ ตัวผู้ให้บริการ และต่อสังคม… ไม่ใช่แค่ประกันสุขภาพตัวนักท่องเที่ยวเวลาเจ็บป่วยไม่สบายแบบที่เราเห็นกันอยู่

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแต่ละเคส ที่ติดเชื้อโรคติดต่อต่างๆ นั้น มันมากเกินกว่าคนคนเดียว อดีตที่ผ่านมาเหมือนทำลืมๆ หลับตาไปข้างนึง พอเสียหายต่อสังคม ก็ต้องนำงบประมาณของประเทศซึ่งเป็นของทุกคนมาใช้เพื่อสอบสวนโรค คัดกรองกลุ่มคนสัมผัส กักตัว รวมถึงดูแลรักษา ทั้งๆ ที่รายได้ที่ได้มาจากนักท่องเที่ยวแต่ละคนนั้น มันเทียบกันไม่ได้เลยกับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสังคมทั้งหมด

การถัวเฉลี่ยความเสี่ยงแบบคิดว่า รับมาเยอะก็ได้เงินเยอะ ก็ถือซะว่าชดเชยกับความเสี่ยงการระบาดที่เกิดขึ้นมานั้น… บอกตรงๆ ว่า หลักคิดนี้มันใช้ไม่ได้กับภาวะโรคระบาดที่แพร่เร็ว และส่งผลกระทบวงกว้างเช่นนี้ อย่างน้อยที่สุด ก็จนกว่าจะพบยาและวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้ ราคาไม่แพง และสถานการณ์การระบาดดีขึ้นจนคุมได้ดีในภาพรวมของโลกครับ

สถานการณ์ปัจจุบัน ขอให้เราทุกคนรักตัวเอง รักครอบครัว ป้องกันตัวอยู่เสมอนะครับ

ประเทศไทยต้องทำได้
ด้วยรักต่อทุกคน
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK