Media

‘4 องค์กร’จับมือตั้งชมรมโครงข่ายทีวีดิจิทัล

“4 หน่วยงาน” ผู้ให้บริการ Mux  จับมือตั้ง “ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอล” ร่วมมือด้านเทคนิคพัฒนาประสิทธิภาพโครงข่ายฯ

ตั้งแต่ปี 2557 ได้มีการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์ระบบอนาล็อกมาสู่ระบบโทรทัศน์ดิจิทัล นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการอุตสาหกรรมโทรทัศน์  ซึ่งมีผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (Mux)  4 องค์กร ประกอบด้วย สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก,กรมประชาสัมพันธ์, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

จากสภาพอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลปัจจุบัน ทำให้เกิดสภาวะโครงข่ายฯ เกินความต้องการ (Over Supply) เนื่องจาก กสทช. ออกใบอนุญาตไม่เป็นไปตามแผน โดยออกใบอนุญาตผู้ให้บริการโครงข่ายจำนวน 5 โครงข่าย จำนวน 38 ช่องสัญญาณ แต่ออกใบอนุญาตฯ ผู้ให้บริการช่องรายการจำนวน 26 ช่องรายการ ทำให้จำนวนช่องสัญญาณเกินกว่าช่องรายการ  12 ช่องสัญญาณ

โครงข่าย ทีวีดิจิทัล Mux

ส่งผลให้เกิดอำนาจต่อรองจากผู้เช่า เช่น ผู้ให้บริการช่องรายการขอลดอัตราค่าเช่า การชำระค่าเช่าล่าช้า มีแนวโน้มการไม่จ่ายค่าเช่าและย้ายไปเช่าโครงข่ายอื่น ส่งผลกระทบกับการดำเนินงานของผู้ให้บริการโครงข่ายเรื่องเงินทุนหมุนเวียนและภาระหนี้สิน

ดังนั้นผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ทั้ง 4 หน่วยงาน จึงร่วมมือกันจัดตั้ง “ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอล” (ชคท.)  หรือ Digital Television Network Provider Society (DNPS) เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ แลกเปลี่ยนความร่วมมือทางเทคนิคและพัฒนาคุณภาพการให้บริการโครงข่ายฯ ให้มีประสิทธิภาพ

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่าแนวทางการทำงานเร่งด่วน ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จะร่วมกันพิจารณาและหาแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ  เช่น แนวทางการบริหารต้นทุนร่วมกัน, การกำหนดมาตรฐานของราคาค่าบริการ , การกำกับดูแลกันเอง การเจรจาและให้คำปรึกษากับผู้เช่าใช้บริการโครงข่ายฯ

นอกจากนี้จะร่วมกัน 3 ฝ่าย ทั้งผู้ให้บริการโครงข่ายฯ , กสทช., และรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบของทรัพย์สินรัฐที่รับภาระแทน กสทช.  เช่น โครงการแก้ปัญหาและเยียวยาจำนวนช่องรายการที่ว่างอยู่ในโครงข่าย ซึ่งเกิดขึ้นตามแผนแม่บทและข้อบังคับของ กสทช.

พร้อมทั้งวางแนวทางการทำงานระยะยาว ในการแก้ปัญหาผลกระทบต่อผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จากสถานการณ์และแนวโน้มธุรกิจสื่อโทรทัศน์ปัจจุบันต่อรัฐบาล หรือ กสทช.และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น การเสนอให้ กสทช. ดำเนินการ National Mux service center ในการรวมโครงข่ายฯ ทั้งหมด เพื่อนำไปสู่บริหารจัดการหรือจัดตั้งเป็นโครงข่ายฯ การให้บริการแห่งชาติเพิ่อให้ได้ มาตรฐานระดับสากลต่อไป

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปัจจุบันใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเข้าสู่ปีที่ 5  จากอายุใบอนุญาต 15 ปี ผู้ได้รับใบอนุญาตจ่ายเงินค่าประมูลใบอนุญาตไปแล้วกว่า 70%  แต่พบว่างบโฆษณาทีวีอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ความร่วมมือของผู้ให้บริการโครงข่ายฯ เพื่อสร้างความเข้มแข็งการบริการให้บริการและบริการที่มีคุณภาพ ประชาชนได้รับประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายผ่านช่องรายการทีวีดิจิทัล

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight