Politics

กนช.อนุมัติ‘แผนแม่บท’ 6 ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

กนช. อนุมัติปรับแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นแผนแม่บทสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  เร่งขับเคลื่อน 162 โครงการพระราชดำริ

ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)  วันนี้ (14 ก.ย.) เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ภายหลังการประชุม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน กนช. เปิดเผยความคืบหน้าการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำว่า จะปรับชื่อใหม่เป็น “แผนแม่บท” เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายใหม่เพิ่มเติมรายยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนา/ขยายเขตระบบประปา เพิ่มประสิทธิภาพประปา 20,034 หมู่บ้าน และพัฒนาน้ำประปา น้ำดื่ม ให้ได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสมให้ครบทุกหมู่บ้าน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มผลิตภาพการใช้น้ำ สร้างมูลค่าเพิ่มให้น้ำอีก 10 เท่าจากปัจจุบัน และเพิ่มน้ำต้นทุนโดยปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อลดความเสี่ยงภัยแล้ง

ยุทธศาสตร์ที่ 3 บรรเทาอุทกภัยระดับลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบทุกลุ่มน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำจำนวน 562 แห่ง ลำน้ำธรรมชาติสายหลักและสาขาระยะทาง 5,500 กิโลเมตร ป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมือง 764 แห่ง พื้นที่รับประโยชน์ 1.7 ล้านไร่

ยุทธศาสตร์ที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสีย 105 แห่ง รักษาสมดุลของระบบนิเวศ 13 ลุ่มน้ำหลัก

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำ 0.45 ล้านไร่

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ (ปกติ/วิกฤติ) ตลอดจนเจรจาความร่วมมือด้านน้ำกับต่างประเทศ

ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของการดำเนินการจัดทำแผนแม่บทภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาตินั้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการจัดทำรายละเอียด การกำหนดผู้รับผิดชอบ เป้าหมายตัวชี้วัดและการจัดทำแผนโครงการ โดยจะเสนอร่างแผนจากเดิมเดือนกันยายน เป็นเดือนตุลาคม และนำเสนอ กนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งต่อไป

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ในฐานะกรรมการและเลขานุการ กนช. เปิดเผยว่าที่ประชุมได้พิจารณาการดำเนินโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ มูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) ในปี 2562 ที่พร้อมดำเนินการมีทั้งสิ้น 11 โครงการ รวมวงเงิน 73,679 ล้านบาท

โดย 4 โครงการได้ผ่านการพิจารณาของ กนช. แล้วคือ โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี จ.ชัยภูมิ และโครงการบรรเทาอุทกภัย เมืองชัยภูมิ (ระยะที่1) คงเหลือที่จะเสนอเพิ่มเติมอีก 7 โครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและมีความพร้อมที่จะดำเนินการ คือ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองแสนแสบ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองทวีวัฒนา โครงการประตูระบายลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำ จ.สกลนคร โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ

ด้านการขับเคลื่อนแผนงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านพัฒนาแหล่งน้ำ สทนช. ได้จัดลำดับความสำคัญในการพิจารณาแผนงาน งบประมาณโครงการพระราชดำริที่มีความพร้อม ไม่ติดปัญหาอุปสรรคใดเป็นลำดับแรก ซึ่งสามารถจัดกลุ่มแนวทางการขับเคลื่อนโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการและยังไม่ได้ดำเนินการ ประกอบด้วย 1. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จำนวน 78 โครงการ 2.โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จำนวน 22 โครงการ และ 3. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี จำนวน 62 โครงการ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight