Lifestyle

ประเพณีลากพระ หรือชักพระ ของชาวใต้

ได้ยิน “อีสาระพา เฮโล เฮโล ไอ้ไหรกลมกลม หัวนมสาวสาวไอ้ไหรยาวยาว สาวสาวชอบใจ” ทำให้หวนนึกถึงตอนเด็ก พอใกล้เทศกาลออกพรรษา เหล่าบรรดาชายฉกรรจ์ จะร่วมแรงร่วมใจ แสดงออกถึงความสามัคคีไปร่วมทำเรือพระที่วัดใกล้บ้าน เมื่อก่อนนี้ เรือพระไม่มีรูปทรงสวยงามแบบปัจจุบัน เสียงร้อง ที่ประสานกับเสียง ตุ้ม เมง  ของโพน (เป็นชื่อกลองซึ่งมีลักษณะเหมือน กลองทัด มีสามขา ตีด้วยไม้แข็ง 2 มือ หน้ากลองมีขนาดตั้งแต่ 35-100 เซนติเมตร ทำจากการเจอะไม้ต้นตาล หรือไม้ขนุน หน้าโพนนิยมหุ้มด้วยหนังควายหรือหนังวัวทั้งสองหน้า)

ชักพระ1

ฆ้อง ระฆัง ในการลากพระ คนลากสนุกสนานประสานเสียงร้องบทลากพระเพื่อผ่อนแรง ประเพณีลากพระ บางท้องถิ่นเรียกว่า “ประเพณีชักพระ” เป็นประเพณีพื้นเมืองของชาวภาคใต้ ได้สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนถึงปัจจุบัน และเป็นประเพณีที่มีกำหนดการแน่นอน คือ จัดทำในแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันออกพรรษา การสร้างเรือพระอดีตที่ผ่านมา เรือพระ จะมีรูปทรงธรรมดา สร้างขึ้นมาแบบง่ายๆ ทำเป็นร้านม้า มีไม้สองท่อนรองรับข้างล่าง ทำเป็นรูปพญานาคไม่มีล้อลาก

ปัจจุบันได้วิวัฒนาการใส่ล้อเข้าไปเพื่อให้สะดวก ผ่อนแรงคนลากได้ ร้านม้าใช้ไม้ไผ่สานทำฝาผนัง ตกแต่งลวดลายระบายสีสวย รอบ ๆ ประดับด้วยผ้าแพรสี ธงริ้ว ธงสามชาย ธงราว ธงยืนห้อยระยาง ประดับต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้สด ทำอุบะห้อยระย้า มีต้มห่อด้วยใบพ้อแขวนหน้านมพระ ข้างๆ นมพระแขวนโพน กลอง ระฆัง ฆ้อง ด้านหลังนมพระวางเก้าอี้ เป็นที่นั่งของพระสงฆ์ ยอดนมอยู่บนสุดของนมพระ ได้รับการแต่งอย่างบรรจงดูแลเป็นพิเศษ เพราะความสง่าได้สัดส่วนของนมพระขึ้นอยู่กับยอดนม

ชักพระ5

ชักพระ13

สำหรับพระพุทธรูปที่ใช้ในการลากพระจะเป็น พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร หรือ ปางห้ามญาติ จำนวน 1 องค์ หรือ 2 องค์ ภาษาถิ่นเรียกว่า “พระลาก” นิยมใช้ไม่เกิน 2 องคการลากพระทางบก แตกต่างจากลากพระทางน้ำ คือ การใช้แรงคนเดินเท้าลากจูงเรือพระ ตั้งขบวนเดินลัดตัดทุ่งนา หมู่บ้าน ผ่านคูหนองร่องลำธาร โดยใช้เชือกผูกติดกับเรือพระจับลากจูงขบวนผ่านหมู่บ้านใด ประชาชนนำขนมต้ม(ขนมต้มหรือที่เรียกตามภาษาถิ่นว่า ต้ม เป็นขนมประจำประเพณีทำด้วยข้าวเหนียวห่อด้วยใบกะพ้อ) มาแขวนพระหัตถ์พระพุทธรูป หรือผูกห้อยกับร้านม้า ร่วมอนุโมทนาแล้วเสร็จ รีบก้าวไปเข้าขบวนลากพระตามประเพณี บางคนแย่งเรือพระหรือบังคับให้อ้อมโค้งออกนอกเส้นทาง หวังจะให้เรือพระผ่านทุ่งนาของตน เพราะมีความเชื่อว่า เรือพระผ่านท้องทุ่งแห่งใด จะทำให้ข้าวกล้าพืชพันธุ์ธัญญาหารงอกงาม

ชักพระ8

การลากพระบก มีทั้งนันทนาการ มีความสนุกสนานและความสัมพันธ์ก็เกิดขึ้น เป็นต้นว่าขบวนผ่านลงน้ำทุกคนก็เปียกน้ำ ผ่านโคลนตมก็เปื้อนโคลนตม ขบวนลากพระ ต่างมุ่งหน้าไปยังสถานที่แห่งเดียวกัน เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน สถานที่ ที่เป็นศูนย์กลางเรือพระที่ขบวนลากมาจากวัดต่างๆ จะลากไปหยุดร่วมกัน ณ สถานที่นั้นและจะถึงก่อนเวลาถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ทุกๆ ขบวนกลางคืนมีการสมโภช อาจจะมีหนังตะลุง มโนราห์ ทำการแสดงด้วย

ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ได้ชื่อว่า เมืองแห่งสายน้ำ ในเช้าของวันออกพรรษาในตัวเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามหน้าบ้านเรือนริมถนนในตัวเมืองจะเต็มไปด้วยต้นผ้าป่าที่รอพระมาชักพุ่มผ้าป่าหน้าบ้านในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตรง มีการตั้งพุ่มผ้าป่าหน้าบ้านกว่า 2,000 พุ่ม พระสงฆ์จะชักพุ่มผ้าป่าหน้าบ้านพร้อมกันในเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา จนเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ ยังมีพุ่มเมือง ซึ่งเป็นต้นโพธิ์ทองขนาดใหญ่สวยงาม เป็นสัญลักษณ์ของการจัดพุ่มผ้าป่าหน้าบ้าน และจะมีการสมโภชพุ่มเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล ณ บริเวณศาลหลักเมือง 

ชักพระ7

ชักพระ6

ชักพระ3

การชักพระทางบก หรือลากพระ จะจัดขึ้นในเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งเป็นวันออกพรรษา มีการประกวดรถพนมพระ โดยมีรถพนมพระกว่า 100 วัด เข้าร่วมงาน คือที่มาของคำว่า ไหว้พระร้อยวัด มหัศจรรย์วันเดียว ต่อด้วยการชักพระทางน้ำ และการแสดงแสง สี เสียง ยิ่งใหญ่ตระการตา ในคืนเดียวกัน ทั้งนี้วัดที่อยู่ริมแม่น้ำจะตกแต่งเรือพนมพระ และมีการชักพระทางน้ำล่องมาตามลำน้ำตาปี เพื่อให้ประชาชนริมฝั่งแม่น้ำได้ร่วมชมและร่วมทำบุญ ในขบวนมีนางรำฟ้อนมาอย่างสวยงามเรือพระตกแต่งสวยงาม ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอยากจะให้ทุกท่านได้เดินทางมาสัมผัส กับงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่นี้ด้วยตาของตัวท่านเองสักครั้ง

ชักพระ

ชักพระ12

ชักพระ9

ชักพระ10

ชักพระ11

อ่านข่าวเพิ่ม

Avatar photo