Economics

กรพ.ปัดตอบ รัฐไฟเขียว ‘คิงส์เกต’ ขายกากแร่ทอง-เงิน กว่า 300 ล้านบาท

อธิบดีกพร. ปัดตอบคำถาม “คิงส์เกต” บริษัทแม่ ของอัครา เปิดเอกสาร รัฐบาลไทยไฟเขียว นำกากแร่ทอง และเงิน มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ออกขายได้ แถมบอกเป็นท่าทีเชิงบวก และควรจะเกิดขึ้นนานแล้ว

บีบีซี รายงานว่า นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่ (กพร.) ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ บีบีซีไทย หลังกรณีที่ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด เผยแพร่เอกสารเมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ระบุว่า รัฐบาลไทยอนุญาตให้บริษัทนำกากตะกอน ที่ประกอบด้วยทองคำประมาณ 4,750 ออนซ์ และเงิน 34,800 ออนซ์ รวม 42,550 ออนซ์ ออกไปขายได้ โดยมีมูลค่าราว 14 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 320 ล้านบาท เมื่อประเมินจากราคาทองคำ ณ วันที่ 9 กันยายน 2563

cover คิงส์เกต เหมืองอัครา

ในเอกสารนี้ นายรอสส์ สมิธ-เคิร์ก ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท คิงส์เกต ระบุว่า นี่เป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นนานแล้ว เป็น “ก้าวเล็ก ๆ แต่ก็เป็นเชิงบวก” ทำให้เห็นว่ารัฐบาลไทย ตั้งใจที่จะเจรจายุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้น

ย้อนไปเมื่อปี 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ชาตรี ซึ่งดำเนินการโดยอัครา รีซอร์สเซส บริษัทลูกของคิงส์เกต ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560

เรื่องยืดเยื้อเรื่อยมาหลังทางสองฝ่าย ไม่สามารถตกลงกันได้จนปลายปีนั้นเองที่ บริษัท คิงส์เกต ตัดสินใจนำเรื่องนี้ เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ โดยบอกว่าการสั่งปิดเหมือง เป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)

ปลายเดือนสิงหาคมปีนี้ แฮชแท็ก #เหมืองทองอัครา ติดอันดับยอดนิยมบนทวิตเตอร์ในไทย หลังมีการเผยแพร่เอกสารงบประมาณปี 2564 ที่ระบุว่า ต้องมีค่าใช้จ่ายราว 111 ล้านบาท สำหรับดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทย กับ บริษัท คิงส์เกต จากประเทศออสเตรเลีย

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน ตั้งคำถามว่าเหตุใดเงินที่ต้องใช้จัดการกับปัญหา ต้องมาจากภาษีประชาชนในเมื่อย้อนไปเมื่อปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ เคยลั่นว่า “ผมรับผิดชอบเอง เพราะเป็นผู้ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น” โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า ตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ถือว่าเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” นั่นหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยตัวเองหรือไม่

นอกจากค่าใช้จ่ายราว 111 ล้านบาท สำหรับดำเนินการระงับข้อพิพาทจากงบประมาณปี 2564 ยังมีงบประมาณที่ใช้ดำเนินเรื่องเดียวกันจากปี 2561-62 จำนวน 217 ล้านบาท และ 60 ล้านบาท ตามลำดับ และหากแพ้คดี ไทยอาจต้องจ่ายค่าเสียหายสูงถึงราว 30,000 ล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo