Business

การเคหะฯ ปรับกรอบลงทุน 3 แนวทาง ‘บ้านเคหะสุขประชา’ 1 แสนหลัง

บ้านเคหะสุขประชา 1 แสนหลัง การเคหะฯ ปรับกรอบลงทุน มุ่งลดภาระงบประมาณ ใช้เครื่องมือทางการเงิน ตามที่ กฎหมายรองรับ สร้างที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย

นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ประธานกรรมการ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า การเคหะฯ ได้ปรับกรอบการลงทุนโครงการ บ้านเคหะสุขประชา 1 แสนหลัง ภายใน  5ปี เพื่อผู้มีรายได้น้อย และผู้สูงวัย ประกอบด้วย 1. ลงทุนด้วยงบประมาณปกติ 2. ลงทุนตาม พ.ร.บ.รัฐ เอกชนร่วมทุน พ.ศ. 2562 และ 3. ระดมทุนผ่านบริษัทในเครือปัจจุบัน หรือบริษัทที่ตั้งใหม่

บ้านเคหะสุขประชา 1 แสนหลัง

ทั้งนี้ แผนขับเคลื่อนการเคหะแห่งชาติ นับจากนี้ไป จะมุ่งเน้นถือธงนำในการเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เพื่อประชาชน เพื่อเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อการเคหะแห่งชาติ โดยคณะกรรมการ จะมุ่งสู่การใช้ความหลากหลายด้านการลงทุน รูปแบบการลงทุนสมัยใหม่ ลดการพึ่งพางบประมาณ ใช้ข้อได้เปรียบจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ เครื่องมือทางการเงินสมัยใหญ่

ล่าสุด การเคหะฯ อยู่ระหว่างการออกพันธบัตรในรูป “Social Bond” ครั้งแรก เพื่อจำหน่ายนักลงทุน แทนการของบประมาณรัฐบาล และจัดระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงภายหลังวิกฤติ โควิด-19 เป็นอย่างดี และเพื่อรับผลกระทบทางเศรษฐกิจในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

พร้อมกันนี้ ยังได้ปรับแนวคิดการดำเนินโครงการ “บ้านเคหะสุขประชา” จากซื้อ/เช่า เป็น เช่าแล้วซื้อ (Rent to buy) และมองไปยังสังคมสูงอายุ ที่ได้ประโยชน์จากแนวทางกู้เงิน เพื่อที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “Revere Mortgage” สาหรับผู้มีอายุเกิน 60 ปี สามารถใช้ทรัพย์เดิมสร้างรายได้ประจา เพื่อเช่าในโครงการบ้านพักคนชราในอนาคต

สำหรับรูปแบบการลงทุน จะเน้นหลักการ 3 ประการ คือ

  • ตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย โดยศึกษาความต้องการของตลาดทั้งประเทศด้วย ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ให้มีการลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์ม พิสูจน์ความต้องการได้อย่างชัดเจน และก่อสร้างตามความต้องการนั้น ในแต่ละพื้นที่ (Build on Demand) เพื่อมิให้เกิดสินค้าคงเหลือ และความต้องการเทียม
  • โครงการต้องให้ผลตอบแทนเป็นบวก ต่อการเคหะแห่งชาติ โดยไม่มองเฉพาะผลตอบแทนที่ได้จากการ เช่า แต่มองผลตอบแทนอื่นประกอบด้วย เช่น ผลตอบแทนจากการจัดประโยชน์พื้นที่ในโครงการ ตาม แนวคิด “เศรษฐกิจสุขประชา” อาทิ ตลาดชุมชน พื้นที่ประกอบอาชีพในชุมชน
ณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล
ณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล

นอกจากนี้ ยังรวมถึงผลตอบแทนทาง เศรษฐศาสตร์อื่น ๆ ที่วัดผลได้ โดยไม่มองผลตอบแทนจาก การก่อสร้างเพียงประการเดียว และรวมทุกส่วนแล้ว ต้องมีผลตอบแทนที่เป็นบวก ต่อการเคหะแห่งชาติ ซึ่งได้มีการหารือกับ สานักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นที่เรียบร้อย และอยู่ระหว่างการจัดทำแผน

  • รูปแบบการลงทุน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจหลัง โควิด-19 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้กระตุ้นให้ทุกรัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงหน่วยราชการต่าง ๆ เร่งหาแนวทางการลงทุนรูปแบบใหม่ตาม พ.ร.บ. รัฐเอกชนร่วมทุน พ.ศ. 2562 แทนที่จะใช้งบประมาณภาครัฐเพียงประการเดียว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการ 100,000 หลัง จะดำเนินการใน 5 ปี คณะกรรมการจึงจะพิจารณากรอบ การลงทุนโดยใช้ทั้ง 3 รูปแบบร่วมกัน คือ ลงทุนด้วยงบประมาณปกติ, ลงทุนตาม พ.ร.บ.รัฐ เอกชนร่วมทุน พ.ศ. 2562 และ ระดมทุนผ่านบริษัทในเครือปัจจุบัน หรือบริษัทที่ตั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้มีความคล่องตัว ยืดหยุ่น ต้นทุนต่ำ และไม่เป็นภาระต่อการเคหะแห่งชาติ

นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า การเคหะฯ ตระหนักดีว่าการสมดุลระหว่าง ดีมานด์ ซัพพลาย เป็นสิ่งสำคัญ และโครงการต้องมุ่งไปสู่การสร้างอาชีพ ให้เกิดขึ้นจริงในชุมชน รองรับปัญหาการว่างงาน และเชื่อมโยงเทคโนโลยี เพื่อสร้างช่องทางจำหน่าย ผลผลิตของชุมชนให้ได้

ขณะเดียวกัน โครงการ เคหะสุขประชา ยังจะนำพื้นที่ Sunk Cost จากโครงการเอื้ออาทรเดิม ที่ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จส่วนหนึ่ง มาดำเนินการ เพื่อลบภาพโครงการทิ้งร้างของการเคหะแห่งชาติทั้งประเทศ คณะกรรมการจะดำเนินการ อย่างรอบคอบ ให้มีโครงการต้นแบบ ไม่เน้นแต่ปริมาณ แต่เน้นคุณภาพให้ชุมชนมีส่วนร่วม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo