Politics

‘นพ.ยง’ เปิดข้อจำกัดการพัฒนาวัคซีน ‘โควิด’ ในไทย ชี้ไม่ได้อยู่ที่เงิน!

วัคซีนโควิด “นพ.ยง” ชี้ข้อจำกัดในการพัฒนาในประเทศไทยที่ล่าช้า ไม่ได้อยู่ที่เงิน แต่อยู่ที่การสร้างบุคลากรที่มีความสามารถ ชี้ไทยมีนักวิจัยจำนวนจำกัดมาก ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างพัฒนา ไม่รวมกันเข้ามาให้เข้มข้นขึ้น

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงการพัฒนา วัคซีนโควิด ผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan โดยระบุว่า โควิด 19 ข้อจำกัดในการพัฒนาวัคซีนในประเทศไทย สิ่งที่สำคัญของการพัฒนาวัคซีนในประเทศไทย ที่ไปได้ช้า ไม่ได้อยู่ที่เงิน

ขอยกตัวอย่างเช่นเมื่อไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาด องค์การอนามัยโลกให้เงินประเทศไทยและบราซิลมาเพื่อใช้ในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และรัฐบาลลงทุนสมทบอีก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ซับซ้อน ตรงไปตรงมาไม่ได้มีเทคโนโลยีมากมาย

วัคซีนโควิด

เรามีการสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และโรงงานก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว มากกว่าพันล้านบาท

แต่ใช้ระยะเวลามาถึง 10 ปี การพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของไทย เพิ่งเข้าสู่การทดลองในมนุษย์ระยะที่ 3

ปัญหาอุปสรรคสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวเงิน ปัญหาใหญ่อยู่ที่การสร้างบุคลากรที่มีความสามารถ ของเรานักวิจัย มีจำนวนจำกัดมาก และยังแยกส่วน ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างพัฒนา ทำให้เจือจาง ไม่รวมกันเข้ามาให้เข้มข้นขึ้น

การพัฒนา วัคซีนโควิด ในประเทศไทยจึงมีหลากหลายตำรับมาก แต่ละตำรับต้องใช้ทรัพยากร ที่มีจำนวนจำกัด ทั้งทางด้านบุคลากรและสถานที่ และการจัดสรรเรื่องของเงิน ก็จะทำให้ถูกเจือจังลง ประเทศไทยดีมากที่มีผู้บริจาคสมทบเป็นจำนวนมาก

การพัฒนาวัคซีนตั้งแต่เริ่มต้น จะต้องใช้ห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานสูง GLP

การทำทุกอย่างมีกฎระเบียบตามมาตรฐานสากล GMP และจริยธรรมในการศึกษาวิจัยไม่ว่าจะเป็นในสัตว์ทดลองและในมนุษย์

สถานที่ จึงอยู่กระจัดกระจาย ไม่ได้รวมกันหรือประสานงานกัน ต่างคนต่างทำ ในทรัพยากรที่จำกัด

ในช่วงไข้หวัดใหญ่ระบาด ทุกคนก็คิดที่จะทำวัคซีน แต่ขณะนี้เลยมาถึง 10 ปี ก็ยังอยู่ในระยะที่ 3 ในการศึกษาวิจัยในมนุษย์

ถ้ามองย้อนไปในอดีต ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ตัวเงิน แต่ขาดการร่วมแรงร่วมใจให้เป็นหนึ่งเดียว ในการช่วยพัฒนาให้ประสบความสำเร็จ

ในระยะแรกมีวัคซีนหลายตำรับเช่นกัน มีทั้งเชื้อเป็น และเชื้อตาย เราเดินผิดทางตอนต้นที่พัฒนาเชื้อเป็น แล้วจึงค่อยเปลี่ยนมาเป็นเชื้อตาย ที่ใช้ไข่

เมื่อมาจนถึงปัจจุบัน เราพัฒนาวัคซีนเป็นแบบ 3 สายพันธุ์ แต่ทั่วโลกใช้แบบ 4 สายพันธุ์

เราพัฒนาวัคซีนที่ใช้ไข่ที่ทำมาในอดีตมากกว่า 30 ปี

ทั่วโลกกำลังจะเปลี่ยนจากไข่ มาเป็นเซลล์ culture เซลล์ที่ทำได้ง่ายกว่าในการเลี้ยงไก่ ทำให้เราตามไม่ทัน

เราขาดความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียว ทำนองเดียวกัน วัคซีนโควิด 19 น่าจะใช้บทเรียนจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 และอุปสรรคในการพัฒนาวัคซีนในอดีต

นพ.ยง กล่าวอีกว่า เราคงได้ยินข่าว ระงับการศึกษาชั่วคราวของการพัฒนาวัคซีนในระยะที่ 3 ในมนุษย์ ของบริษัท AstraZeneca และ oxford วัคซีน ใช้ไวรัสเป็นเวกเตอร์ในการนำพาแอนติเจน เพื่อให้ร่างกายกระตุ้นแอนติบอดี

ในการศึกษาวัคซีน ที่จะต้องให้คนปกติในการป้องกันโรค จึงคำนึงถึงความปลอดภัย อย่างมาก

ในการศึกษาระยะที่ 1 จะใช้อาสาสมัครเป็นหลักสิบและขึ้นเป็นหลักร้อยในระยะที่ 2 พอมาถึงระยะที่ 3 จะต้องใช้อาสาสมัครเป็นหลักพัน หลัก หมื่น

วัคซีนโควิด

ในการศึกษานี้ต้องการจะให้ได้ทราบผลในการป้องกันโรค อย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นที่จะต้องใช้อาสาสมัครหลายหมื่นคน ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค และจะต้องมีการเฝ้าติดตาม สิ่งไม่พึงประสงค์ (adverse event) ที่อาจเกิดขึ้นกับอาสาสมัคร

ในปรากฏการณ์ครั้งนี้มีอาสาสมัคร 1 คน พบปรากฏการณ์ อาการไม่พึงประสงค์ ที่ค่อนข้างรุนแรงเกี่ยวข้องกับประสาทไขสันหลังอักเสบ (transverse myelitis) จึงจำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้ ก่อนทั้งที่การอักเสบการกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จากไวรัส หรือการอักเสบ หรือระบบภูมิต้านทานอย่างอื่นก็ได้ (Co-incident)

ดังนั้น อาจจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการให้วัคซีนก็ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการพิสูจน์โดยผู้เชี่ยวชาญ ให้ลงความเห็นว่าเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง ก่อนตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งว่าจะเดินหน้าต่อไป หรือยุติการทดลอง

เราจะเห็นว่าในอดีต มีวัคซีนที่มาถึงระยะที่ 3 แล้วหยุดการศึกษา เช่น วัคซีนป้องกัน RSV และแม้แต่ผ่านระยะที่ 3 แล้ว ยังมีการเฝ้าระวังในปีแรกๆ ที่มีการใช้ และมีการถอดถอนวัคซีนออก เช่น วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงไวรัสโรต้า หรือที่เรียกว่า RotaShield ของบริษัท Wyeth ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับลำไส้กลืนกันในทารก

ในการทดลองเป็นจำนวนมาก เพื่อหวังให้เห็นประสิทธิภาพในการป้องกัน ยังต้องดูอาการแทรกซ้อนที่อาจขึ้นได้แม้กระทั่งหนึ่งในพันหรือหนึ่งในหมื่นก็จะต้องติดตาม เพื่อความปลอดภัยที่สูงสุดจริงๆ

ในอดีตที่ผ่านมา การศึกษาวัคซีน จึงจำเป็นที่จะต้องใช้เวลายาวนาน และความรอบคอบ เพราะวัคซีนจะให้กับคนปกติ และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค

การศึกษาวิจัยตั้งแต่ระยะแรกและระยะสุดท้าย จึงมีมาตรฐานสูงตั้งแต่กระบวนการในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน การทดลองในสัตว์ทดลองที่มีมาตรฐาน ขั้นตอนการผลิตวัคซีนมาเพื่อใช้ในการทดลองก็ต้องทำจากโรงงานที่มีมาตรฐาน การทดลองจะต้องอยู่ภายใต้ Good Clinical Practice (GCP) ทุกขั้นตอน ในมนุษย์ และยังต้องติดตามหลังการใช้จริงอีกระยะหนึ่ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK