Lifestyle

‘คุมเบาหวาน’ ลดอาหารแป้งสูง ช่วยลดความเสี่ยง ‘โรคหัวใจ – หลอดเลือด’

คุมเบาหวาน ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ กรมการแพทย์ แนะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควบคุมระดับน้ำตาล ลดความเครียด ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และหลอดเลือด

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดี กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยเป็นเบาหวาน ในระยะเวลานานๆ ควร คุมเบาหวาน ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาล ด้วยการลดการรับประทานอาหารที่มีแป้งในปริมาณมาก หลีกเลี่ยงของหวาน ชา กาแฟ น้ำอัดลม ออกกำลังกายควบคุมน้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่นๆ โดยเฉพาะ โรคหัวใจ และหลอดเลือด

คุมเบาหวาน

สำหรับโรคเบาหวาน เป็นโรคที่เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้เซลล์ต่าง ๆของร่างกาย นำน้ำตาลกลูโคสไปใช้ได้ลดลง หรือ ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินเพียงพอ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หรือมีระดับน้ำตาลมากกว่า 126 มก./ดล.

อาการที่พบบ่อยในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง คือ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย รับประทานอาหารมากขึ้น แต่น้ำหนักลด อ่อนเพลีย
เห็นภาพไม่ชัด ตาพร่ามัว

ขณะเดียวกัน ในกรณีที่ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี เป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้ หย่อนสมรรถภาพทางเพศ มีอาการชา เจ็บตามแขนขา เส้นประสาทเสื่อม และเกิดแผลที่เท้าได้ง่าย จอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น

สำหรับผู้มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน คือผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน หรืออ้วนลงพุง และขาดการออกกำลังกาย พฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม เช่น กินอาหารที่มีแป้งในปริมาณสูง เบเกอรี่ ขนมหวาน น้ำหวานหรือน้ำอัดลม หรือเกิดจากกรรมพันธุ์ สตรีที่มีประวัติเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์ ประวัติการตั้งครรภ์ผิดปกติ มีโรคถุงน้ำในรังไข่

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการ สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าหากมีน้ำตาลในเลือดสูง เป็นเวลานาน โดยไม่มีการควบคุม อาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ คือ อาการชาปลายมือ ปลายเท้า จอประสาทตาเสื่อม ไตวาย อีกทั้งยังมีโอกาสเป็น โรคหัวใจ และหลอดเลือด สูงกว่าคนปกติ

เนื่องจากโรคเบาหวาน ส่งเสริมให้เกิด ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง หลอดเลือดแดง มีการตีบหรืออุดตัน ส่งผลแทรกซ้อนให้เกิด โรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวายเรื้อรัง ตาบอด หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงปลายเท้าตีบ หรือ อุดตันอีกด้วย

เบาหวาน

อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวาน ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุม ระดับน้ำตาล ด้วยการงดรับประทานอาหารที่มีแป้งสูง ในปริมาณมาก หลีกเลี่ยงของหวาน ชา กาแฟที่มีการเติมน้ำตาล น้ำอัดลม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด รวมทั้ง ตรวจ และบันทึกระดับน้ำตาลในเลือด อย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวาน ควรหมั่นตรวจสุขภาพตา ไต หัวใจ เท้า สมอง และควรรับประทานยาหรือ ฉีดยาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล ให้เหมาะสม อย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อลดความรุนแรงของโรค และป้องกัน การเกิดภาวะแทรกซ้อน จากเบาหวาน ที่จะเกิดในอนาคต

ขณะที่ องค์การอนามัยโลก และสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ ได้กำหนดให้ วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) เพื่อให้องค์กรสาธารณสุขทั่วโลก เห็นความสำคัญ ในการป้องกันและควบคุมโรค เบาหวาน

ทั้งนี้ แม้โรคเบาหวาน จะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถยับยั้งการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ถ้าคุมระดับน้ำตาล และน้ำหนักตัวได้เป็นอย่างดี

ผู้เป็นโรคเบาหวานส่วนใหญ่ จะยังไม่รู้ตัวจนกว่าจะแสดงอาการ เช่น น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย กินจุบจิบ แผลหายช้า อ่อนเพลีย ชาปลายมือ ปลายเท้า สายตาผิดปกติ ซึ่งเกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo