COLUMNISTS

จาก ‘ปชต.ครึ่งใบ’ สู่ ‘เสรีนิยมประชาธิปไตย’ ทำได้หรือไม่อยู่ที่คนไทย

Avatar photo
114

สถานการณ์ประชาธิปไตยของโลกใบนี้ ดูเหมือนจะถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงว่า เป็นระบบที่เลวน้อยที่สุดจริงหรือไม่

IMG 0994
ภาพ: www.freedomhouse.org

ถึงขนาดเมื่อต้นปีที่ผ่านมาหน่วยงาน Freedom House เปิดเผยรายงาน ที่ชื่อ Freedom in the World 2018 ถึงระดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ว่า อยู่ในทิศทางขาลงของหลักการโลกเสรี

พร้อมยกสถานการณ์ประชาธิปไตยของสหรัฐ ต้นแบบประชาธิปไตย ที่ได้ทรัมป์มาเป็นประธานาธิบดีว่า มีการใช้เงินมากเกินไปในการหาเสียงตามมลรัฐต่างๆ ซึ่งเป็นกระบวนการบั่นทอนการเลือกตั้ง ไปจนถึงข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจากเครือข่ายธุรกิจของครอบครัวทรัมป์

นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ประเทศต่างๆ 195 ประเทศ มี 88 ประเทศอยู่ในกลุ่ม “เสรี” 58 ประเทศ อยู่ในกลุ่ม “เสรีบางส่วน” ที่เหลืออีก 49 ประเทศ “ไม่เสรี” ซึ่งมีไทยรวมอยู่ด้วย โดยได้คะแนนลดลงมาถึง 31 เต็ม 100 ในปีนี้

สอดคล้องกับรายงาน ดัชนีประชาธิปไตย 2017 (Democracy Index 2017) ที่จัดทำโดย The Economist Intelligence Unit (EIU) ที่พบว่า อันดับด้านเสรีและประชาธิปไตยของไทยต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังเกิดรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา

จากเดิมในปี 2556 มีคะแนน 6.25 จาก 10 คะแนน ลดลงเหลือ 5.39 ในปี 2557 ก่อนจะตกลงเป็น 5.09 ในปี 2558  ตามด้วย 4.92 ในปี 2559 และ 4.63 ในการสำรวจล่าสุดปี 2560 เหลืออีกเพียง 0.63 ไทยก็จะถอยหลังไปอยู่ในกลุ่มประเทศเผด็จการ

ในภาวะที่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนถูกตั้งคำถามมากว่า “เราได้คนดีมาบริหารปกครองประเทศจริงหรือไม่” ทำให้เกิดช่องว่างให้ระบอบเผด็จการก้าวเข้ามามีบทบาท ดังจะเห็นได้จากหลายประเทศ รวมถึงไทย ที่ประชาธิปไตยอยู่ในภาวะอ่อนแอ ประชาชนเกิดความเบื่อหน่าย ผู้มีอำนาจเหมารวมว่านักการเมืองเลว พร้อมส่งสัญญาณสืบทอดอำนาจ ผ่านรัฐธรรมนูญและกติกาที่ตัวเองพอใจด้วยการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44

สภาพการณ์เช่นนี้ต้องยอมรับความจริงว่า เป็นเพราะมี นักการเมืองเลวใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือเข้าสู่อำนาจ ทุจริต คอร์รัปชัน แสวงหาประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง จนนำไปสู่การรัฐประหาร และความเบื่อหน่ายต่อการใช้ประชาธิปไตยบังหน้ามากอบโกยบนซากปรักหักพังของบ้านเมือง

จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อรัฐบาล คสช.กล้าประกาศแบบตรงไปตรงมาผ่านข้อเสนอให้ กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ แถมรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่มีบทเฉพาะกาลให้ ส.ว.250 คน ที่คสช.เป็นผู้แต่งตั้ง มีวาระ 5 ปี เป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี คุมเกมผู้นำประเทศได้คาบเกี่ยวถึงสองวาระของสภาผู้แทนราษฎรที่มีระยะเวลา 8 ปี ไปจนถึงการเปิดทางให้มีนายกคนนอกได้ ยังผ่านการทำประชามติที่ถูกนำมาอ้างว่าเป็นฉันทานุมัติจากคนไทยอีกด้วย

IMG 0995
ภาพ: www.freedomhouse.org

การเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้ง จึงเป็นห้วงเวลาสำคัญที่จะพิสูจน์สังคมไทยว่า จะช่วยกันฟื้นฟูให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากระบอบเผด็จการที่เอาประชาธิปไตยครึ่งใบมาบังหน้า เข้าสู่ยุคเสรีนิยมประชาธิปไตยได้หรือไม่

จุดเริ่มต้นของเสรีนิยมประชาธิปไตย ไม่ได้เกิดจากแค่การหย่อนบัตรเลือกตั้ง แต่เริ่มได้ตั้งแต่ภายในพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ของพรรคเป็นผู้เลือกหัวหน้าพรรค

ดูเหมือนทุกพรรคก็เดินตามเส้นทางนี้ มีเพียง “ประชาธิปัตย์” พรรคเดียว ที่ชูธงให้มีการหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคโดยสมาชิกของพรรค และให้ที่ประชุมใหญ่ต้องคำนึงถึงผลการหยั่งเสียงดังกล่าวด้วย ถือเป็นหนึ่งในความพยายามของพรรคที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาระบบการเมืองไทยผ่านการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค เพราะนอกจากให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงในการเลือกผู้บริหารพรรคแล้ว ยังเป็นการสร้างจารีตทางการเมืองใหม่ที่ใช้สังคมเป็นตัวกำกับ แทนการออกกฎหมายมาบังคับด้วย

หัวใจของ “เสรีนิยมประชาธิปไตย” ไม่ได้หมายความถึงแค่การเลือกตั้ง แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยที่เคารพเสียงข้างน้อย ยอมรับการถ่วงดุลตรวจสอบ ไม่ใช้อำนาจรัฐที่ได้แบบเกินขอบเขต และจุดเริ่มต้นที่จะเกิดเสรีประชาธิปไตยได้ ต้องมาจากการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ประชาชนมีความตื่นรู้เลือกคนดีเข้ามาบริหารประเทศ เราจึงจะได้การปกครองโดยประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

ปัจจุบันเริ่มมีการขายความคิดเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล” (liquid democracy) คือให้ประชาชนมีสิทธิโหวตในญัตติใดญัตติหนึ่ง หรือมอบอำนาจให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านเป็นผู้ออกเสียงแทน แตกต่างจากเดิมที่เลือกตั้งแล้วจบมาเจอกันใหม่เมื่อหมดวาระ ซึ่งก็นับว่าเป็นความคิดต่อยอดที่จะพัฒนาประชาธิปไตยไปอีกขึ้นหนึ่ง

“เสรีนิยมประชาธิปไตย” หรือ “ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล” จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หัวใจสำคัญอยู่ที่พลังตื่นรู้ของสังคมไทย ว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ประเทศหลุดพ้นจากระบอบเผด็จการในคราบประชาธิปไตยครึ่งใบได้หรือไม่

ทั้งนี้ ซึ่งต้องเริ่มจากการให้ความจริงกับประชาชน เพื่อให้หลุดพ้นจากการโฆษณาชวนเชื่อทั้งจากฝ่ายประชาธิปไตยจอมปลอม และจากผู้อยากสืบทอดอำนาจ เพื่อให้การตัดสินใจของประชาชนผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นตัวชี้วัดอนาคตประเทศอย่างแท้จริง