Business

กฟผ. ร่วมฟื้น ‘ท่องเที่ยวชุมชน นำร่อง 3 เขื่อน 1 โรงไฟฟ้า กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

กฟผ. ร่วมมือ ททท. ส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน ประเดิมชวนเที่ยว 3 เขื่อน 1 โรงไฟฟ้า กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก จำหน่ายสินค้าชุมชน หวังร่วมฟื้นประเทศ

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดกิจกรรม “พลังงานสร้างไทย กฟผ. สร้างพลังชุมชน” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เพื่อร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19

เที่ยวชุมชน

 

ทั้งนี้ กฟผ. จะเน้นการสร้างความเข็มแข็งให้ชุมชน ผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน รอบเขตเขื่อน และโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทั่วประเทศ ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ให้กับชุมชนจากการท่องเที่ยว และการจำหน่ายสินค้าชุมชน

สำหรับปีนี้ กฟผ. จะจัดทริปนำร่องเส้นทางท่องเที่ยวใน 4 เส้นทาง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก, เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ ใน จ.กาญจนบุรี และ โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา ควบคู่กับการจัดหาช่องทางจำหน่ายสินค้าชุมชน ทั้งในส่วนของร้านค้าภายในเขตเขื่อน โรงไฟฟ้า การจัดตลาดนัดสินค้าชุมชนในพื้นที่ กฟผ. สำนักงานใหญ่ นำชุมชนร่วมจัดแสดงสินค้ากับเครือข่ายพันธมิตรในพื้นที่ต่าง ๆ

นอกจากนี้ ยังรวมถึงช่องทางออนไลน์ในกลุ่มบนเฟซสบุ๊ก (Facebook) ที่มีชื่อว่า “ตลาดนัดเอนจี้ ของดีทั่วไทย” โดยมีจิตอาสา กฟผ. คอยดูแลช่วยเหลือชุมชนในการโพสต์สินค้าให้น่าสนใจ ช่องทางการจัดส่งสินค้า กฎหมายการค้าขายออนไลน์ จัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นยอดขาย

นายวิบูลย์ กล่าวว่า การส่งเสริม การท่องเที่ยวรอบโรงไฟฟ้า และสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน ผ่านช่องทางต่าง ๆ จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้โดยเร็วที่สุด

ด้านนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. กล่าวว่า กฟผ. มีฐานทรัพยากรที่ทรงคุณค่ามากมาย สามารถนำมาสร้างสรรค์ และส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มีความสวยงาม พร้อมยังสามารถกระจายประโยชน์ ต่อชุมชนท้องถิ่น ใกล้เคียงบริเวณเขื่อน และโรงไฟฟ้า

ดังนั้น จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการท่องเที่ยว ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น การนำสินค้าที่เป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านมาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว จะช่วยให้ชุมชนได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo