Business

นมไทย ปรับด่วน! เปิดเอฟทีออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ต้นทุนนมนอกถูกกว่า 35-50%

เปิดเอฟทีออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ “โฟร์โมสต์” ชี้ต้นทุนนมนอก ต่ำกว่านมไทย 35-50% แนะเกษตรกร ผู้ผลิตปรับตัวด่วน เน้นเพิ่มศักยภาพ สร้างความยั่งยืน

นายโอฬาร โชว์วิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายนมพร้อมดื่มแบรนด์ “โฟร์โมสต์” (Foremost) เปิดเผยว่า เกษตรกรไทย ควรเร่งปรับตัว รับการ เปิดเอฟทีออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เนื่องจากเมื่อลดภาษี ต้นทุนนมนอกจะถูกกว่านมไทยถึง 35-50%

เปิดเอฟทีออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์

ทั้งนี้ ในปี 2564 ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และ ความตกลงการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์ (TNZFTA) ที่ไทยเตรียมปลดล็อคภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ และไม่มีการจำกัดโควตานำเข้า สินค้ากลุ่มนมผง ที่มีไขมันเกิน 1.5% ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนม หางนม (เวย์) เนย ไขมันเนย (AMF) เนยแข็ง และ ในปี 2568 สำหรับกลุ่มสินค้านมและครีม เครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่ง นมผงขาดมันเนย

จากข้อมูลเดือนมกราคม – กรกฎาคม ปี 2563 พบว่า ไทยมีการนำเข้านม และผลิตภัณฑ์นม จากนิวซีแลนด์มูลค่า 7,900 ล้านบาท และออสเตรเลีย มูลค่ารวมกว่า 1,900 ล้านบาท ประกอบด้วย ชีส นมผงขาดมันเนย นมผงเต็มไขมัน เนย นมแปลงไขมัน ผงเวย์ โยเกิร์ตพร้อมดื่ม นมผงพร่องมันเนยและครีม

ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า ราคาต้นทุนการผลิตนมดิบ ของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ปัจจุบันมีราคาถูกกว่าไทยราว 35 – 50% โดยอยู่ที่ราคา 11 – 13 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ประเทศไทยราคาอยู่ที่ 17.50 บาทต่อกิโลกรัม

อีกทั้งหลังจากที่ไทยเตรียมปลดล็อคภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ และไม่มีการจำกัดโควตานำเข้าวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์นมบางกลุ่ม ที่จะเริ่มในปี 2564 จะมีปริมาณการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นม จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้น

ดร.โอฬาร โชว์วิวัฒนา
โอฬาร โชว์วิวัฒนา

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า ไทยมีปริมาณการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นม จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นสัดส่วนที่ใหญ่ ซึ่งการเปิดการค้าเสรีดังกล่าวหากเสร็จสมบูรณ์ จะส่งผลกระทบโดยตรง กับภาพรวมของอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมไทย

ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อม ในด้านต่าง ๆ เพื่อที่จะสามารถผลักดันให้อุตสาหกรรมนมเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ที่ต้องปรับตัว และพัฒนาการผลิต ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยสนับสนุนให้เกษตรกรโคนม แข่งขันกันด้วยคุณภาพและต้นทุน

พร้อมกันนี้ ควรผลักดันให้เกษตรกร มีการพัฒนาศักยภาพอยู่ตลอดเวลา เพื่อการผลิตน้ำนมโคคุณภาพให้กับผู้บริโภค และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมผลิต ต้องมีการปรับทั้งด้านมาตรฐาน ในการผลิต การขนส่ง รวมถึงการทำการตลาด และการจัดจำหน่าย เพื่อตอบสนองกับกลไลของตลาด และพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

เปิดเอฟทีออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์

ในส่วนของภาครัฐ ควรมีมาตรการสนับสนุน ให้มีการเปิดเสรีด้านกลไกราคา อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้อุตสาหกรรม มีการปรับตัวตามกลไกราคาของตลาด เพื่อพร้อมรับการเปิดเสรีการค้า รวมไปถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ของเกษตรกรโคนม อุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในเชิงบูรณาการ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าจะได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืน

จากข้อมูลกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) รายงานภาพรวมอุตสาหกรรมนมทั่วโลก ข้อมูลปี 2562 มีการผลิตนมปริมาณ 522 ล้านตัน เป็นการบริโภคราว 187 ล้านตัน อัตราเฉลี่ยประชากรทั่วโลก บริโภคนมคนละ 113 ลิตรต่อปี ภูมิภาคเอเชียประชากรเฉลี่ยดื่มนม 66 ลิตรต่อปี

ส่วนคนไทยมีอัตราการดื่มนมปริมาณน้อยเฉลี่ยเพียงคนละประมาณ 18 ลิตรต่อปี หรือเพียงสัปดาห์ละ 2 แก้วเท่านั้น จะเห็นได้ว่าคนไทยมีปริมาณการดื่มนมต่ำ เมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยการดื่มนม ของประชากรในภูมิภาคเอเชีย

ในขณะที่ข้อมูลจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ และ เอซี นีลเส็น ปี 2562 พบตลาดนมไทยมีมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท มีปริมาณนมพร้อมดื่มที่ใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรในประเทศจำนวน 1.230 ล้านลิตร  และนมพร้อมดื่มที่ใช้วัตถุดิบจากการนำเข้าจำนวน 1,220 ล้านลิตร

10SEP ตลาดนมไทย

 

ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์นม ไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์นมหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่มาจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์นม เพื่อใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์นมประเภทอื่น ๆ แล้วส่งออก มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ นมพร้อมดื่ม นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เนยที่ได้จากนมและนมข้นหวาน เป็นต้น ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียน เช่น กัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ โฟร์โมสต์ ในฐานะที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 64 ปี และเป็นหนึ่งในผู้รับซื้อน้ำนมดิบรายใหญ่ มูลค่ารวมกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี ได้จัดกิจกรรม “เกษตรกรพบเกษตรกร” (Farmers to Farmers) เพื่อมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพของเกษตรกรฟาร์มโคนมไทยให้ได้มาตรฐานระดับโลกด้วย 7 แนวทางสำคัญ ดังนี้

  • โคต้องได้อาหารและน้ำที่ดี เพราะอาหารและน้ำต้องสมดุล เหมาะกับการหมักย่อยของจุลินทรีย์ในกระเพาะรวม และต้องมีน้ำที่สะอาด สำหรับให้โคดื่มตลอดวัน
  • ลูกโคดีคือหัวใจ ลูกโคต้องได้รับนมน้ำเหลืองที่มีคุณภาพทันทีหลังคลอด จากนั้นให้กินนม ควบคู่กับอาหารข้นอาหารหยาบ และน้ำสะอาด พร้อมติดตามการเจริญของลูกโค
  • พันธุ์ต้องสมบูรณ์ หลังคลอดลูก แม่โคจะให้น้ำนม ส่วนลูกโคเพศเมีย จะนำมาเลี้ยงให้สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อทดแทนแม่โคที่ปลอดออกหรือขยายฝูง
ภาพประกอบ 5
Photo CHUMPOL C.
  • การรีดนมต้องถูกวิธี ความสะอาดในการรีดนมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต้องเช็ดทำความสะอาดเต้านม รีดนมต้นเพื่อเช็คคุณภาพน้ำนมและตรวจสอบปัญหาเต้านมอักเสบของแม่โคแบบรายตัว ส่วนเครื่องรีดต้องได้รับการตรวจสอบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้และแช่น้ำยาป้องกันเชื้อหลังรีดนมทุกครั้ง
  • สำคัญที่กีบ ดูแลกีบเท้าโคอย่าให้สึกบางจากพื้นคอกหรือจากอาหารการกินที่ไม่สมดุล พร้อมหมั่นแต่งกีบโคอย่างสม่ำเสมอ
  • การออกแบบโรงเรือน ต้องออกแบบให้มีความสะอาดปลอดภัยต่อโคและการทำงานของเกษตรกร อีกทั้งอากาศถ่ายเทได้ดีและจัดสรรพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนเพียงพอต่อจำนวนโค
  • ระบบเดต้าเฉพาะฟาร์ม มีการบันทึกข้อมูลฟาร์มที่ครบถ้วน พร้อมใช้ครอบคลุมทั้งรายได้ ผลผลิต ตลอดจนข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับโคนม

ล่าสุดมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 14,000 ราย ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้นรวม 20 ล้านบาทต่อปี ควบคู่ไปกับการผลักดันอุตสาหกรรมนมในประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับอุตสาหกรรมนมทั่วโลกในอนาคต ตลอดจนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มและผลิตภัณฑ์นมที่มีคุณภาพเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo