COLUMNISTS

‘เทรนด์ธุรกิจ’ หลังยุคโควิด-19 สู่ New Business Normal (ตอน 1)

Avatar photo
ซีอีโอ บริษัท มาร์เก็ตติ้งไดอ๊อกไซด์ จำกัด
5385

เทรนด์ธุรกิจ หลังยุคโควิด-19 จากปรากฎการณ์การระบาด ของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบขนานใหญ่ ต่อระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem)

วิกฤติการณ์ของโรคระบาดดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต่อโลกธุรกิจนับจากนี้ไป อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (Business Disruption)

เทรนด์ธุรกิจ หลังยุคโควิด-19

วันนี้เรามาลองคาดการณ์แนวโน้มอนาคต ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ไปสู่ยุคของการเปลี่ยนผ่าน สู่ความปกติใหม่ในทางธุรกิจ (New Business Normal) ที่จะเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันถอยหลังกลับ (The River Has No Return) จนเกิดเป็น เทรนด์ธุรกิจ หลังยุคโควิด-19

ทุกสิ่งจะเคลื่อนเข้าสู่โหมดออนไลน์

อีคอมเมิร์ซไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้เกิดการเติบโต อย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ในวันที่ใคร ๆ ต้องกักตัวอยู่บ้าน จากสถานการณ์โควิด-19 ที่มาพร้อมกับห้างร้านที่ปิด ส่งผลให้คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมมาช้อปออนไลน์มากขึ้น มีการสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นออนไลน์ (Food Delivery) รวมถึง การสั่งวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหาร

นอกจากนี้ เครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ สามารถสั่งผ่านออนไลน์ แทนการออกไปซื้อของเองนอกบ้าน  เกิดการเติบโตของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอร์รี่ ไม่ว่าจะเป็น แกร้บฟู้ด (GrabFood) ฟู้ดแพนด้า (Foodpanda) ไลน์แมน (Line man) ลาลามูฟ (Lalamove) เก็ท (GET) ฯลฯ ล้วนได้กระแสตอบรับล้มหลามดีเกินคาด มีลูกค้าเพิ่มขึ้น รายได้สูงขึ้นหลายเท่าตัว

เทรนด์ธุรกิจ หลังยุคโควิด-19

ในส่วนของอีคอมเมิรซ์เอง ก็มีการเพิ่มขี้นของผู้เล่น ในหลากหลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น จากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเดิม ได้แก่ Facebook, Instagram, LINE, Twitter จากแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลส เช่น Lazada, Shopee, JD Central, WeMall, PChome Online หรือ จากแพลตฟอร์มแบรนด์ดอทคอมเอง เช่น CENTRAL, KING POWER, Home Pro, TESCO Lotus, JIB, Lnw Shop เป็นต้น

จากพฤติกรรมการช้อปออนไลน์ ที่เคยซื้อสินค้าอยู่บางรายการ ก็กลายเป็นการเติบโตของสินค้าในแทบทุกหมวด รวมไปถึงการขยาย ไปยังบริการออนไลน์อื่น ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อาทิ การจัดส่งของชำ (Grocery Delivery) หรือการเติบโตอย่างขนานใหญ่ ของคอร์สการเรียนการสอน ในระดับมหาวิทยาลัย ผ่านทางช่องทางออนไลน์ (Online University) หรือแม้กระทั่งบริการด้านการแพทย์ สุขภาพ และความงามทางช่องทางออนไลน์ (Remote Health Care) เป็นต้น

การทำงานจากระยะไกลหรือทำงานจากที่บ้านมากขึ้น

ธุรกิจต่าง ๆ จะมีการปรับเปลี่ยน รูปแบบการบริหารพนักงาน ให้เกิด การทำงานจากระยะไกล (Remote working) หรือ การทำงานจากที่บ้าน (Work from home) หรือ การบริการจากผู้ให้บริการภายนอก (Business Outsourcing)

เทรนด์ธุรกิจ หลังยุคโควิด-19

ผลสำรวจล่าสุดของ Gartner พบว่า 48% ของพนักงาน มีแนวโน้มที่จะทำงานจากระยะไกล อย่างน้อยก็บางส่วน หลังจาก โควิด-19 เทียบกับ 30% ก่อนการระบาด ในขณะที่ภาคธุรกิจต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปใช้ การปฏิบัติงานระยะไกลมากขึ้น

ดังนั้น ธุรกิจจะต้องมุ่งประเด็น ไปที่การเพิ่มความสามารถ และทักษะของพนักงาน ที่จะต้องทำงานร่วมกันแบบดิจิทัล รวมถึงการปรับเปลี่ยน การตั้งเป้าหมายและการประเมินพนักงาน หรือ ผู้ให้บริการจากภายนอก (Outsource)  เพื่อให้เข้ากับบริบทการทำงานระยะไกล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โซ่อุปทานจะสั้นลง และกระจายความเสี่ยง จากระดับโลก สู่ระดับภูมิภาคมากขึ้น

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา โลกต่างมุ่งเน้นไปสู่ การที่จีนได้กลายเป็น ศูนย์กลางของโรงงานของโลก คำสั่งซื้อจากทั่วโลก ได้ทำให้โซ่อุปทานในประเทศจีนเติบโตสูงสุด เป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ตามผลกระทบของ โควิด-19 ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยง จากการ ใส่ไข่ทั้งหมด ไว้ในตะกร้าใบเดียว เมื่อจีนปิดประเทศ โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งหยุดการผลิต การเชื่อมต่อด้านโลจิสติกส์กับโลก เข้าสู่สถานะออฟไลน์อย่างสิ้นเชิง ก่อให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบ และความชะงักงัน ของโซ่อุปทานโลก อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน

แรงงานพนักงานออฟฟิศ ๒๐๐๙๐๙ 0

โลกจะปรับเปลี่ยน จากการมุ่งพึ่งพาจีนในเชิงลึก ไปสู่ การกระจายการจัดการโซ่อุปทานสู่ระดับภูมิภาค (Regional Supply Chain) หรือ การบริหารโซ่อุปทานกับประเทศเพื่อนบ้าน (Neighboring Countries Supply Chain) มากขึ้น เหมือนในกรณีที่ประเทศไทย ได้กลายเป็นศูนย์กลางโซ่อุปทานให้กับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMMVS (Cambodia-Laos-Myanmar-Malaysia-Vietnam-Singapore) ในช่วงล็อคดาวน์ของโลกที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ระบบการผลิต ของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะกลับมาให้ความสำคัญ กับการบริหารสินค้าคงคลัง เพื่อป้องกันความเสี่ยงอย่างเหมาะสม (Safety Stock) มากกว่าการจัดการการผลิตแบบทันเวลา (Just-in-Time) ที่มุ่งเน้นไปที่การลดต้นทุน และสิ้นเปลืองเพียงอย่างเดียว

นั่นเพราะ เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ขนาดใหญ่ การมีสินค้าคงคลัง ที่เพียงพอต่อความต้องการในอนาคตอันใกล้ ในผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาทิ กระดาษชำระ ผ้าอนามัย น้ำยาฆ่าเชื้อ เจลทำความสะอาด หรือน้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์ เหล่านี้ กลับเป็นความจำเป็นต่อการอยู่รอด ของมวลมนุษยชาติเลยทีเดียว

โลกจะได้เห็นการบริหารจัดการโซ่อุปทาน ที่มีการกระจายศูนย์กลาง การจัดเก็บผลิตภัณฑ์ อย่างมีความเหมาะสม และมีความหลากหลายมากขึ้น

ธนกร สังขรัตน์ ซีอีโอ บริษัท มาร์เก็ตติ้งไดอ๊อกไซด์ จำกัด

โปรดติดตามตอนต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม