Economics

‘สรรพสามิต’ แจงการปรับขึ้นภาษียาเส้น ปัดเอื้อบุหรี่นอก!

สรรพสามิต แจงขยายเวลาขึ้นภาษีบุหรี่ซิกาแรตและยาเส้น ยันเพื่อช่วยเกษตรกรผู้ปลูกใบยาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ปัดเอื้อบุหรี่นอก

นายวรวรรธน์ ภิญโญ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษก กรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตามที่เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะนำชาวไร่ยาสูบร้อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิด กระทรวงการคลัง เอื้อประโยชน์ให้บริษัทบุหรี่นอก สามารถมีระยะเวลาในการปรับตัว เพื่อการแสวงหากำไร จากประกาศกระทรวงการคลัง

สรรพสามิต

กรมสรรพสามิต ขอชี้แจงว่า จาก พ.ร.บ.ภาษียาสูบ พ.ศ. 2509 จนถึง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีการปรับขึ้นอัตราภาษียาเส้นเพียงหนึ่งครั้ง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 จากอัตราที่ 0.001 บาทต่อกรัม เป็น 0.01 บาทต่อกรัม นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ. ภาษี สรรพสามิต พ.ศ. 2560 ได้ปรับลดอัตราภาษี ตามปริมาณเป็น 0.005 บาทต่อกรัม เพื่อการขยายฐานภาษี ให้ครอบคลุมถึงยาเส้นพันธุ์พื้นเมือง เพื่อเป็นการนำยาเส้น เข้าสู่ระบบสร้างความเท่าเทียม และ เยียวยาให้แก่ผู้เสียภาษีรายใหม่ ที่ต้องเข้าสู่ระบบ

ดังนั้น การขึ้นอัตราภาษียาเส้น ตามกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ถือเป็นการขึ้นภาษีครั้งที่ 2 ในรอบกว่า 50 ปี ขณะที่ ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ซิกาแรตอย่างเดียวรวม 16 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม บุหรี่ซิกาแรต ยังคงมีภาระภาษีมากกว่า ยาเส้น ถึง 18 เท่า กล่าวคือ บุหรี่ซิกาแรต มีภาระภาษี 1.75 บาทต่อกรัม ขณะที่ยาเส้น มีภาระภาษีเพียง 0.10 บาทต่อกรัม ทั้งที่สินค้าทั้ง 2 ประเภทต่างมีผลเสียต่อสุขภาพเหมือนกัน

สำหรับ การออกกฎกระทรวง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2563 นั้น กรมสรรพสามิต ยังคงยึดหลักความเท่าเทียม ระหว่างสินค้ายาสูบ ทั้งบุหรี่ซิกาแรต และ ยาเส้น คือ ด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย และ ทั่วโลก กระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ การจ้างงาน ภาคการเกษตร และภาคการส่งออก

กรมสรรพสามิต จึงมีนโยบาย เพื่อการเยียวยาสินค้ายาสูบ ทำให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบ และ ยาเส้น และเกษตรกร ได้รับการเยียวยา จากปัญหาการขาดสภาพคล่อง ตลอดจนเพื่อให้การยาสูบแห่งประเทศไทย ได้มีการปรับตัวทางธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ และ ยังคงมีการรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรต่อไป

โดยเสนอขยายเวลาการบังคับใช้อัตราภาษีปัจจุบัน ของบุหรี่ซิกาแรต และ ยาเส้นออกไปถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 และ เลื่อนการบังคับใช้อัตราภาษีใหม่ ของบุหรี่ซิกาแรตและยาเส้นออกไป โดยให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

โดยเลื่อนเวลาการบังคับใช้ อัตราภาษีบุหรี่ซิกาแรต ตามมูลค่าแบบอัตราเดียวที่ 40% และ อัตราภาษีตามปริมาณที่ 1.20 บาทต่อหนึ่งมวน จากเดิมที่จะมีการบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป ออกไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

และเลื่อนเวลาการบังคับใช้ อัตราภาษียาเส้นตามมูลค่าที่ 0% และอัตราภาษีตามปริมาณที่ 0.10 บาทต่อหนึ่งกรัม จากเดิม ที่จะมีการบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ออกไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

“การขยายเวลาบังคับใช้อัตราภาษีบุหรี่ซิกาแรตและยาเส้น เป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรผู้ปลูกใบยาทั้ง 2 กลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน” โฆษกกรมสรรพสามิต กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo