Economics

ม.หอการค้าหวังเลือกตั้งเงินสะพัด 4 หมื่นล้าน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยชี้ หากเกิดการเลือกตั้งตามกำหนดในปีนี้ จะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัด หนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น พร้อมปรับคาดการณ์การเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2561 ขึ้นมาอยู่ที่ 4.4-4.8% หรือมีค่าเฉลี่ยที่ 4.6% จากเดิมที่ประเมินไว้ในระดับ 4.0-4.5%

DSC 8067
ธนวรรธน์ พลวิชัย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะเริ่มเห็นได้ในช่วงกลางปี 2562 ซึ่งหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงตามกรอบเวลาที่รัฐบาลกำหนดไว้คือช่วงเดือน กุมภาพันธ์ 2562 ก็จะส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นในระบบเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังน่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีหน้า คือ ช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 4 โดยเป็นการทยอยปรับขึ้นครั้งละ 0.25%

“หากปีหน้ามีเลือกตั้ง ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยก็จะดีขึ้น และมีเม็ดเงินจากกิจกรรมการเลือกตั้งลงสู่ระบบราว 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เพิ่มขึ้น เราก็คาดว่ามีโอกาสที่แบงก์ชาติจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 2 อีก 0.25% และปรับขึ้นอีก 0.25% ในไตรมาส 4 ซึ่งทยอยปรับให้ความต่างของอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและไทยแคบลง โดยสิ้นปี 25 62 ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจจะแตะที่ระดับ 2% และอาจจะปรับขึ้นอีกครั้งในปี 2563”

ทั้งนี้ ประเมินว่าปี 2562  จีดีพีจะเติบโตได้ 4.5% ส่วนปี 2563 เติบโตได้ 4.8% และปี 2564 เติบโตได้ 4.6%

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังได้ปรับประมาณการขยายตัวจีดีพีไทยในปีนี้ 2561 เพิ่มขึ้น เนื่องจากมองว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทย

ตัวอย่างปัจจัยที่ส่งผลดี

  • เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง
  • การส่งออกขยายตัวได้ดีตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
  • การท่องเที่ยวยังมีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
  • การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐมีโอกาสเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
  • การลงทุนภาคเอกชนเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น
  • รายได้ภาคเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น

พร้อมกันนี้ ยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การส่งออกไทยในปีนี้ว่าจะเติบโตได้ 8.7% ที่มูลค่าราว 2.57 แสนล้านดอลลาร์ จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่าจะโต 6.0% มูลค่าราว 2.5 แสนล้านดอลลาร์ และการนำเข้าคาดว่าจะเติบโตได้เพิ่มขึ้นเป็น 12.6% ที่มูลค่า 2.49 แสนล้านดอลลาร์ จากเดิมที่ประเมินไว้ 6.4% ที่มูลค่าราว 2.35 แสนล้านดอลลาร์

ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ คาดว่าจะเกินดุลราว 34.6 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 7.2% ของจีดีพี

“การส่งออกในปีนี้ ได้รับผลกระทบจากกรณีของสงครามการค้า ที่ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยลดลงไปราว 3,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นผลกระทบต่อการส่งออกให้ลดลงไป 1.2% ซึ่งในส่วนนี้มีผลให้จีดีพีหายไปราว 0.4%”

000 Hkg704753

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ คาดว่าจะมีประมาณ 38.8 ล้านคน เติบโตขึ้นจากปีก่อนราว 9.6% โดยมองว่าหากไม่มีเหตุการณ์เรือล่มที่ จ.ภูเก็ต จนส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากนั้น น่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อยู่ที่ราว 39.5 ล้านคน หรือเติบโต 11.6%

อย่างไรก็ดี มองว่าผลกระทบดังกล่าวจะเป็นเพียงปัจจัยลบชั่วคราวเท่านั้น และการท่องเที่ยวไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งถือเป็นช่วงไฮซีซั่น

ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ขยายตัวได้ 1.2% ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่สูง และไม่เป็นแรงกดดันให้ต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายภายในปีนี้ โดยคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปี อัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะยังอยู่ที่ระดับ 1.50%

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ หรือในกรอบ 31.50-33.50 บาทต่อดอลลาร์

ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ

  •  สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ
  • อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ความเสี่ยงจากวิกฤติค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ ทำให้ค่าเงินอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว
  • ความเสี่ยงจากเหตุอุทกภัยที่มีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง
  • ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง ที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีความผันผวน

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังประเมินด้วยว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพในปี  2565 โดยคาดว่าจีดีพีจะเติบโตแตะระดับ 5%

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight