Business

ไทย แต่งตัวรอ นักลงทุนต่างชาติ ‘ย้ายฐานการผลิต’ ระลอกใหม่

นักลงทุนต่างชาติ ย้ายฐานการผลิต ระลอกใหม่ ไทย มั่นใจศักยภาพพร้อมรองรับ กนอ. เดินหน้าปรับแผน ตอบโจทย์ทุกการลงทุน ยอมรับปิดประเทศกระทบการเดินทาง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ประเทศไทย ยังได้รับความสนใจจาก นักลงทุนต่างชาติ ย้ายฐานการผลิต และย้ายฐานการลงทุนเข้ามา โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน จากประเทศจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น โดยเฉพาะการลงทุน ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร การแปรรูปสินค้าเกษตร และ เครื่องมือทางการแพทย์

นักลงทุนต่างชาติ ย้ายฐานการผลิต

ทั้งนี้ ยอมรับว่า สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 นำมาซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก อย่างรุนแรง และส่งผลกระทบ ต่อการลงทุนโดยตรง จากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI)

อย่างไรก็ตาม พบว่า ภาคการผลิตในประเทศเอง เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว สอดคล้องกับ การรายงานตัวเลข ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ระบุว่า มีการกลับมาขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 (สถิติล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2563)

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการรองรับการลงทุน เช่น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตระหนักดีถึงปัญหาดังกล่าว และเตรียมความพร้อม ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทุกแห่ง เพื่อเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ของภาคอุตสาหกรรม ในภูมิภาคอาเซียน

การเตรียมความพร้อมดังกล่าว เพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิต (Relocation) ของนักลงทุน โดยเน้นการพัฒนาที่ตอบโจทย์ทุกการแข่งขัน ด้วยศักยภาพของระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่ได้มาตรฐานสากลแบบครบวงจร รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก และ การบริหารจัดการอย่างทั่วถึง

ขณะเดียวกัน กนอ .ยังมีโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย การเช่าที่ดิน ในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อจูงใจนักลงทุนให้มาลงทุน และมีมาตรการช่วยเหลือ สำหรับนักลงทุนเดิมในนิคมอุตสาหกรรม ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้คล่องตัวมากขึ้น ในสภาวะการแข่งขันปัจจุบัน ไม่ว่าจะขายในประเทศ หรือผลิตเพื่อการส่งออก

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

บวกกับการที่ประเทศไทย มีข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ ในการเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียน 3 ด้าน คือ 1. เป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าของภูมิภาค 2. มีการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ที่ชัดเจน ทั้งทางถนนและรถไฟ และ 3. เป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลในภูมิภาค จึงเป็นแรงขับเคลื่อนอีกทาง ที่เร่งให้การลงทุนล็อตใหม่เกิดได้เร็วยิ่งขึ้น

ด้านนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวเสริมว่า กนอ.คาดการณ์ว่า การลงทุนจากต่างชาติ จะขยายตัวเพิ่มขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการของ กนอ. ช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ที่มีผู้ยื่นคำขอใบอนุญาตเพิ่มขึ้น ทั้งที่เป็นการแจ้งประกอบกิจการใหม่ และ ขยายกิจการเดิม

แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้การเดินทางเข้า ออกประเทศ ของนักลงทุน เกิดการชะลอตัว กนอ.จึงได้ปรับแผนรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยการติดต่อกับนักลงทุน ผ่านระบบเทคโนโลยีด้านสารสนเทศ และสื่อสาร ในระบบออนไลน์ มาเป็นเครื่องมือสื่อสารข้อมูลเบื้องต้น กับกลุ่มลูกค้า และ นักลงทุน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ก่อนตัดสินใจเข้ามาลงทุน

สมจิณณ์ พิลึก
สมจิณณ์ พิลึก

ที่ผ่านมานักลงทุนให้ความสนใจมาลงทุน ในพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรม อย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อมั่นในระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการ ที่ได้มาตรฐานสากล ทั้งระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบโทรคมนาคม และ การบริการที่ครบครัน มีความพร้อมด้านห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการ

พร้อมกันนี้ ยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน จากทางภาครัฐ ที่มีเสถียรภาพและชัดเจน จึงเสมือนเป็นแม่เหล็กที่สำคัญ ในการดึงดูดนักลงทุน ให้ตัดสินใจมาลงทุนเพิ่ม และขยายการลงทุนเดิมเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นเป้าหมายของการลงทุน ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ที่สามารถการันตี ความเป็นฐานการผลิต ที่ใหญ่เป็นลำดับต้นๆของภูมิภาค

สอดคล้องกับ ผลการหารือระหว่างนักลงทุนญี่ปุ่น เจโทร และเจซีซี ที่ระบุว่า นักลงทุนญี่ปุ่น มั่นใจในศักยภาพของประเทศไทย และใช้เป็นฐานการลงทุน เนื่องจากไทยมีความหลากหลาย ทางการลงทุน และมีระบบห่วงโซ่อุปทานที่ดี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ที่นักลงทุนญี่ปุ่น สามารถเชื่อมโยง หรือหาคู่ธุรกิจ เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันได้ไม่ยากนัก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo