World News

‘จีน’ อ้างพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่ปิดกั้น ‘การกลายพันธุ์ของไวรัส’

“จีน” อ้างพัฒนา วัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพปิดกั้น การกลายพันธุ์ของไวรัส” ด้านอิสราเอลเปิดตัว “ห้องแล็บไวรัส” พร้อมวิจัย “โควิด-19 มีชีวิต” หวังอยู่แถวหน้าในอนาคต

เฉินเหว่ย หัวหน้าทีมวิจัยวัคซีนระบุว่า ปัจจุบัน จีน สามารถผลิต วัคซีนโควิด -19 ชนิดตัดต่อพันธุกรรมได้ปีละ 300 ล้านโดส ทั้งยังวางแผนจะขยายขีดความสามารถนี้ต่อไป

อนึ่ง วัคซีนที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม หรือวัคซีนรีคอมบิแนนต์นี้ เป็นผลงานการพัฒนาของสถาบันการแพทย์ทหาร สังกัดสถาบันวิทยาการทหาร โดยใช้อะดีโนไวรัสที่มีข้อบกพร่องดัดแปลงเป็นเวกเตอร์

ข้อมูลปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า ยีนที่ทีมงานเลือกจากไวรัสมาทำวัคซีน มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการกลายพันธุ์อยู่ในระดับต่ำมาก

วัคซีนโควิด-19 จีน
ผู้จัดงานแสดงแบบจำลอง 3 มิติของแอนติเจนวัคซีนโควิด-19 ที่บูธของบริษัทซิโนวัค (SINOVAC) ในงานมหกรรมการค้าภาคบริการนานาชาติแห่งประเทศจีน (CIFTIS) ประจำปี 2563 ณ กรุงปักกิ่ง

เฉินกล่าวว่า จนถึงตอนนี้วัคซีนรีคอมบิแนนต์ดังกล่าว สามารถปิดกั้นการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ และแม้ว่ายีนที่เลือกจะเกิดการกลายพันธุ์ ทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันของวัคซีนลดลง แต่วัคซีน โควิด-19 ที่มีในปัจจุบันยังสามารถใช้เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันขั้นพื้นฐานได้ และจีนยังสามารถพัฒนาวัคซีนที่มุ่งเป้ายับยั้งการกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกัน เฉิน ผู้เป็นนักวิชาการของสถาบันบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์แห่งชาติจีนด้วยระบุ

“มันก็เหมือนกับการอัพเกรดและแก้ไขซอฟต์แวร์” เฉินกล่าว

 

ทดสอบ “วัคซีนโควิด-19” ระยะ 3 ทั่วโลก

วารสารทางการแพทย์ เดอะ แลนเซต (The Lancet) ฉบับเดือนพฤษภาคมระบุว่า ทีมของเฉินได้เริ่มการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 ของวัคซีนดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 มีนาคม อันเป็นการทดลองประเภทนี้ครั้งแรกของโลก ซึ่งผู้เข้าร่วมรับวัคซีนทั้งหมด 108 คนล้วนผลิตแอนติบอดีได้

ริชาร์ด ฮอร์ตัน หัวหน้าบรรณาธิการของเดอะ แลนเซตได้เขียนถึงการวิจัยนี้ว่า เป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ โดยโพสต์ในทวิตเตอร์ว่า วัคซีนดังกล่าวมีความปลอดภัย ทนต่อผลข้างเคียงได้ดี และก่อให้เกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันอย่างรวดเร็ว

การเผยแพร่วิธีการทดสอบและตัวชี้วัดของเราไปทั่วโลกเรา ช่วยให้นักวิจัยจากประเทศอื่นๆ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ทั้งยังผลักดันการวิจัยวัคซีนทั่วโลก” เฉินกล่าว

ในเดือนกรกฎาคม ข้อมูลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 ของวัคซีนดังกล่าวได้รับการเปิดเผยไปทั่วโลก ซึ่งผลการทดลองทางคลินิกทั้ง 2 ระยะ ได้ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบ ทั้งด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย

เมื่อเดือนมิถุนายน จีน ได้อนุมัติโครงการทดลองสำหรับการใช้ วัคซีนโควิด-19 ในกรณีฉุกเฉิน และอนุมัติให้สามารถฉีดวัคซีนรีคอมบิแนนต์แก่กลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไวรัสดังกล่าว

ในเดือนสิงหาคม วัคซีนตัวนี้ได้รับการจดสิทธิบัตร ซึ่งเป็นสิทธิบัตรฉบับแรกของวัคซีนป้องกันไวรัส โควิด-19 ในประเทศจีน

เฉินกล่าวว่า ปัจจุบัน วัคซีนตัวนี้ได้ถูกนำไปเข้ารับการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในหลากหลายประเทศมากขึ้น เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน

แม้ว่าขณะนี้ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะระบุได้แน่ชัดว่าวัคซีนดังกล่าวแสดงประสิทธิภาพได้นานเท่าใด แต่ข้อมูลที่มีแสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้ได้รับวัคซีนในเดือนมีนาคมยังแสดงผลของวัคซีนอยู่ เฉินกล่าวพร้อมเสริมว่า จีนกำลังดำเนินการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

หลังจากการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 เสร็จสิ้น ทีมจะขยายกำลังการผลิตเพื่อเพิ่มโอกาสการฉีดวัคซีนแก่คนจำนวนมาก

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า วัคซีนโควิด-19 มากกว่าครึ่งหนึ่งที่เข้าสู่การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ได้รับการพัฒนาโดย จีน ซึ่งบ่งชี้ว่า จีนมีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนาวัคซีน โควิด-19 ทั่วโลก เธอกล่าว

โควิด-19 อิสราเอล

อิสราเอลเปิดตัว “ห้องแล็บไวรัส” พร้อมวิจัย “โควิด-19 มีชีวิต”

แถลงการณ์ร่วมจากมหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเล็ม (Hebrew University of Jerusalem) และกระทรวงกลาโหมของอิสราเอล เมื่อวันอังคาร (8 ก.ย. 63) ระบุว่า อิสราเอลได้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการวิจัยไวรัส ซึ่งครอบคลุมถึงการทดสอบไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ยังมีชีวิต

ห้องปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการคลัง มูลค่าราว 4 ล้านนิวเชเกล หรือราว 37 ล้านบาท ประกอบด้วยระบบจัดเก็บตัวอย่างทางชีวภาพ หุ่นยนต์จัดการตัวอย่างไวรัสที่ยังมีชีวิต ระบบวิเคราะห์แอนติบอดี เครื่องหมุนเหวี่ยง ตัวทำปฏิกิริยา และอุปกรณ์ถ่ายภาพขั้นสูง รวมถึงระบบปรับอากาศแบบพิเศษ ซึ่งทำงานที่ระดับความกดอากาศต่ำเพื่อป้องกันการรั่วไหล

รายงานระบุว่า ห้องปฏิบัติการได้เปิดทำการแผนกแรกที่ใช้สำหรับรักษาไวรัสและเนื้อเยื่อแล้ว ขณะที่อีกแผนกหนึ่งสำหรับรักษาตัวอย่างทางชีววิทยาที่ติดเชื้อ จะเปิดใช้งานในเดือนพฤศจิกายนนี้

“หลังสิ้นสุดวิกฤตไวรัส โควิด-19 ห้องปฏิบัติการแห่งนี้อาจทำให้อิสราเอลอยู่แนวหน้าด้านการวิจัยเชื้อโรค ช่วยให้มีการทดสอบมาตรการวินิจฉัยและรักษาโรคร้ายแรงถึงชีวิตอื่นๆ รวมถึงโรคระบาดในอนาคต” นาดาฟ โคเฮน หัวหน้าหน่วยโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและเทคโนโลยีแห่งสำนักบริหารการพัฒนาอาวุธและโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี สังกัดกระทรวงกลาโหม ระบุ

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo