World News

สะพรึง! ยอดโควิด-19 รอบวันของอินเดีย ‘สูงสุดในโลก’ แซงสหรัฐ-บราซิล

สะพรึง! ยอด โควิด-19 ในรอบวันของ อินเดีย “สูงสุดในโลก” ด้าน “บราซิล” ดับแล้วเฉียด 1.27 แสนราย “สหรัฐ” กังวลวิทยาลัยคือแหล่งแพร่เชื้อแห่งใหม่

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขกลางของอินเดีย ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ (8 ก.ย. 63) ระบุว่า อินเดียมีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่ถึง 75,809 ราย ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ส่งผลให้อินเดียมีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 4,280,422 ราย

โควิด-19 อินเดีย

รายงานเผยว่า ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 72,775 ราย หลังพบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1,133 ราย นับตั้งแต่เมื่อวานนี้ (7 ก.ย. 63)

ยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 ของอินเดีย ได้เพิ่มสูงอย่างฉับพลันในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักเป็นเพราะการปูพรมทดสอบโรคทั่วประเทศ

อินเดียมีผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรักษาตัว 883,697 ราย ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายดีและออกจากโรงพยาบาลอยู่ที่ 3,323,950 ราย

 

ยอดวันเดียวสูงกว่า “สหรัฐ-บราซิล” รวมกัน

ด้านสภาวิจัยทางการแพทย์แห่งอินเดีย (ICMR) รายงานว่า อินเดีย ตรวจโรคแล้วทั้งสิ้น 50,650,128 ครั้ง เมื่อนับถึงเมื่อวาน โดยเมื่อวานนี้เพียงวันเดียวตรวจโรคไปทั้งสิ้น 1,098,621 ครั้ง

รายงานต่างๆ ระบุว่าขณะนี้ อินเดีย เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรค โควิด-19 มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ ขณะที่รายงานซึ่งเผยแพร่โดยเดอะ ไทมส์ ออฟ อินเดีย (The Times of India) ระบุว่า อินเดียได้กลายเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดใหญ่ของโลก หลังจากเมื่อวันอาทิตย์ (6 ก.ย. 63) ที่จำนวนผู้ป่วยของอินเดียมีสัดส่วนเป็น 40% ของผู้ป่วยทั่วโลก

อินเดีย โควิด-19

รายงานเสริมว่า ยอดผู้ป่วยโรค โควิด-19 ในอินเดีย ที่มีการรายงานเมื่อวันเสาร์และวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (5 และ 6 ก.ย. 63) นั้นสูงกว่า ยอดเดียวกันที่มีการรายงานในสหรัฐ และบราซิลรวมกัน โดยอินเดียกลายมาเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากสุด เป็นอันดับ 2 ของโลก แทนที่บราซิลเมื่อวานนี้

ขณะเดียวกัน อินเดียอยู่ระหว่างการผ่อนปรนมาตรการปิดประเทศระยะ 4 (Unlock 4) ทำให้บริการรถไฟ (Metro Rail) ของหลายเมือง อาทิ เดลี เจนไน เบงกาลูรู เริ่มทยอยกลับมาให้บริการเมื่อวานนี้ หลังจากระงับบริการชั่วคราวมานานกว่า 5 เดือน แต่โรงเรียนและสถานศึกษาอื่นๆ จะยังคงปิดทำการต่อไป

 

ยอดดับ โควิด-19 “บราซิล” สูงเฉียด 1.27 แสนราย

กระทรวงสาธารณสุขของบราซิลระบุว่า เมื่อวานนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในบราซิลเพิ่ม 310 รายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตรวมของประเทศอยู่ที่ 126,960 ราย

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ บราซิลตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ใหม่ 10,273 ราย ทำให้ยอดรวมของประเทศอยู่ที่ 4,147,794 ราย

บราซิลเป็นประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตจากโรค โควิด-19 สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐ และมียอดผู้ป่วยโควิด-19 สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐ และอินเดีย

บราซิล โควิด-19

รัฐที่เกิดการแพร่ระบาดรุนแรงที่สุดคือรัฐเซาเปาลูซึ่งมีประชากร 46 ล้านคน โดยหน่วยงานรัฐท้องถิ่นระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตลดลง 22% ในระยะเวลา 1 เดือน

เจ้าหน้าที่รัฐเป็นกังวลว่า การรวมตัวกันของคนจำนวนมาก เมื่อช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์วันเอกราชซึ่งตรงกับวันที่ 7 กันยายน 2563 โดยเฉพาะตามแนวชายหาด อาจทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงได้

สื่อสหรัฐเผย “วิทยาลัย” จุดแพร่ โควิด-19 แห่งใหม่

บทความที่เผยแพร่โดยหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส (The New York Times) ของสหรัฐ ระบุว่าชุมชนวิทยาลัยราว 100 แห่งในสหรัฐ มีอัตราการติดโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ในระดับสูงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากนักศึกษาเริ่มทยอยเดินทางกลับมาในช่วงเปิดภาคเรียนฤดูใบไม้ร่วง ส่งผลให้วิทยาเขตและชุมชนโดยรอบกลายเป็นพื้นที่แนวหน้าแห่งใหม่ของการระบาดใหญ่ในประเทศ

เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส ได้ดำเนินการตรวจสอบเทศมณฑล 203 แห่ง ซึ่งกลุ่มนักศึกษาครองสัดส่วนอย่างน้อย 10% ของประชากรทั้งหมด และพบว่าราวครึ่งหนึ่งของเทศมณฑลเหล่านี้เคยเผชิญกับสัปดาห์แห่งการระบาดใหญ่ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 โดยสถิติแสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งขึ้นสูงสุดในช่วงเวลานี้

มหาวิทยาลัยไอโอวา (University of Iowa) ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณอย่างน้อย 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.3 พันล้านบาท สืบเนื่องจากโรคระบาดใหญ่ ได้ดำเนินสารพัดมาตรการเฝ้าระวัง และเปิดการเรียนการสอนในชั้นเรียนจริงเพียงราว 1 ใน 4 จากปกติ หลังนักศึกษานับพันเดินทางกลับมายังมหาวิทยาลัยฯ “แต่ผู้มาเยือนหน้าใหม่อาจนำพาเชื้อไวรัสเข้ามาด้วยเช่นกัน อีกทั้งมีผู้อาศัยในพื้นที่มากกว่า 26,000 คน ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย”

ขณะเดียวกันการตัดสินใจจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนจริงของมหาวิทยาลัยฯ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบางสาขาวิชา โดยคณะอาจารย์กลุ่มหนึ่งเขียนในจดหมายเปิดผนึกถึงนักศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ว่า “เราวิตกกังวลถึงสุขภาพของเราและของพวกคุณด้วย”

โรคระบาดใหญ่ส่งผลกระทบต่อการเงินของวิทยาลัยในหลายด้าน เพิ่มแรงกดดันต่อสถาบันหลายแห่งที่จะอนุญาตให้นักศึกษาเดินทางกลับมายังวิทยาเขต ทำให้การลงทะเบียนเรียนลดลงเนื่องจากนักศึกษาหลายคนเลือกจะเว้นช่วงเวลาเรียนต่อมหาวิทยาลัย (Gap year) หรือเลือกอยู่ใกล้บ้าน รวมถึงเพิ่มค่าใช้จ่ายมหาศาลด้านการดำเนินมาตรการความปลอดภัย ลดรายได้จากห้องพักนักศึกษาและคณะกรรมการ ตลอดจนยกเลิกกิจกรรมกีฬาที่สร้างรายได้” บทความระบุ

อย่างไรก็ดี คณะนักระบาดวิทยาเตือนว่าแม้สหรัฐ จะเฝ้าแกะรอยการติดเชื้ออย่างดีเยี่ยม แต่ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดในมหาวิทยาลัยได้อย่างสมบูรณ์ หากนักศึกษากลับมาใช้ชีวิตตามปกติในชุมชนและผู้อาศัยในท้องถิ่นกลับมาทำงานในวิทยาลัย

ทั้งนี้ ยอดผู้ป่วยโรค โควิด-19 ทั่วโลกทะลุ 27 ล้านรายในวันที่ 6 กันยายน 2563 โดยสหรัฐยังคงเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยและผู้ป่วยเสียชีวิตมากที่สุดในโลกด้วยจำนวน 6,296,629 และ 189,114 ราย ตามลำดับ

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo