Lifestyle

กรมการแพทย์ เตือนอันตราย ‘กล้ามเนื้ออ่อนแรง’ โรคร้ายที่คาดไม่ถึง

กล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคร้ายที่คาดไม่ถึง กรมการแพทย์เผย ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แนะแนะออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลือกอาหารมีประโยชน์ ควบคุมความเครียด 

วงการบันเทิง สูญเสียครั้งสำคัญ เมื่อนักแสดงอาวุโสชื่อดัง “แม่ทุม” ปทุมวดี เค้ามูลคดี ได้เสียชีวิตลง หลังจากรักษาอาการป่วย ไทรอยด์เป็นพิษ และ โรค กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS มานานกว่า 8 ปี

n2 211

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดี กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีชื่อทางการแพทย์ว่า Amyotrophic Lateral Sclerosis หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า เอแอลเอส (ALS) เป็นโรคทางระบบประสาทโดยตรง เกิดขึ้นจากเซลล์ระบบประสาท ที่ควบคุมกล้ามเนื้อ เสื่อม แก่ และตายก่อนวัยอันควร

สำหรับอาการของโรคนี้ จะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง แขนขาลีบ มีการกระตุกเต้นของกล้ามเนื้อ กว่า 70% จะเริ่มเป็นที่บริเวณแขนขา ข้างใดข้างหนึ่ง ก่อนจะลุกลามไปสู่กล้ามเนื้อส่วนอื่น เช่น กล้ามเนื้อการกลืน กล้ามเนื้อทางระบบหายใจ ส่งผลทำให้พูดไม่ได้ หรือ หายใจเองไม่ได้ จึงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และทานอาหาร ผ่านสายยาง

คำแนะนำเบื้องต้นในการสังเกต หากสงสัยว่าจะเป็น ALS คือ สังเกตอาการ หากมีอาการแขนขาไม่มีแรง มีอาการลีบ แต่ จะไม่มีอาการชา แขนขาจะลีบค่อนข้างเร็ว และ สังเกตกล้ามเนื้อบริเวณที่ลีบ เนื้อจะเต้นเป็นพลิ้วให้สังเกตโรคนี้ได้ บ่งบอกเบื้องต้น ว่าเป็นโรคในกลุ่มนี้ การวินิจฉัย ต้องมีการตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้า ประสาทและกล้ามเนื้อ.

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถเกิดขึ้นได้ กับทุกเพศทุกวัย โดยที่ผ่านมา พบผู้ป่วย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง 4 – 6 คน ต่อประชากร 100,000 คน และจะมีโอกาสพบผู้ป่วยรายใหม่ได้ประมาณ 1-3 คน ต่อปี

กล้ามเนื้ออ่อนแรง

ส่วนใหญ่โรคนี้ มักจะเกิดในกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 – 60 ปี และ พบในเพศชาย มากกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเสียชีวิต หลังเกิดอาการเพียง 3 – 4 ปี มีเพียงแค่ 10% เท่านั้นที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานสูงสุดถึง 10 ปี ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ ให้หายขาด การรักษาทำได้เพียง บรรเทาอาการ และประคับประคอง เพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ได้นานที่สุด

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ แต่ต้องกินยาตามแพทย์สั่ง ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ผู้ดูแล ต้องพยายามให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย ทำกิจกรรมสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อลีบแบน เกิดแผลกดทับ และ การติดของข้อ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด รับประทานอาหารที่อ่อนนุ่ม และไม่ต้องเคี้ยวมาก ในกรณีที่มีปัญหาเรื่องการกลืน

ขณะเดียวกัน ควรหลีกเลี่ยง การออกกำลังกาย ที่หนักเกินไป และ หลีกเลี่ยงการรับ หรือ สัมผัสกับยาฆ่าแมลง หรือ พวกโลหะหนัก และ รังสีรุนแรง ซึ่งจะกระตุ้นทำให้เซลเสื่อมสภาพ และตาย

ที่สำคัญ คือ คนในครอบครัว และญาติ ต้องให้กำลังใจ และอยู่เคียงข้าง เพื่อให้ผู้ป่วย ได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ อย่างมีความสุขที่สุด เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุ  ของการเกิดโรคที่แท้จริง ทำให้ไม่สามารถป้องกันได้

อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้ ดูแลสุขภาพตนเองให้ดี ที่สำคัญ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และหากสงสัยว่า จะเป็น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยป้องกัน ไม่ให้โรคลุกลามต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo