Politics

รัฐบาลไทย โต้กลับ ‘แอมเนสตี้’ กล่าวหาไทย ปิดกั้นเสรีภาพ

แอมเนสตี้ กล่าวหาไทย ปิดกั้นเสรีภาพ เรียกร้องห้ามขวางผู้ชุมนุม กระทรวงต่างประเทศ ชี้แจงยาว ไม่เคยปิดกั้นการแสดงออก แต่ต้องอยู่ใต้กฏหมาย

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ Amnesty International (AI) หรือ องค์การนิรโทษกรรมสากล สำนักงานใหญ่ กรุงลอนดอน หรือ แอมเนสตี้ กล่าวหาไทย ปิดกั้นเสรีภาพ พร้อมเชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนกว่า 8 ล้านคนทั่วโลก ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั้น

แอมเนสตี้

ทั้งนี้ ทาง แอมเนสตี้ ได้เรียกร้องทางการไทย ให้ยกเลิกการตั้งข้อกล่าวหา ต่อแกนนำ 31 คน และขอให้ยุติการขัดขวาง การร่วมชุมนุมของประชาชน ที่เป็นการปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ การทำงานของรัฐบาล รวมทั้งขอให้ยกเลิกกฎหมาย ที่มีเนื้อหากำกวม หรือคลุมเครือ เพื่อเป็นการเคารพ คุ้มครอง สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งการรณรงค์นี้จะมีไปถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2563

กระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจง ดังนี้

1. รัฐบาลมิได้ปิดกั้นเสรีภาพ ในการแสดงออก รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และอนุญาตให้มีการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนหลายครั้ง ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยคำนึงถึงความสำคัญ ของสิทธิในเสรีภาพ แห่งการแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี การใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าว ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย และต้อง เคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติ ของกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ไทยเป็นภาคี

อนุชา บูรพชัยศรี
อนุชา บูรพชัยศรี

2. รัฐบาลสนับสนุนการใช้เสรีภาพ ในการแสดงออกที่สร้างสรรค์ ไม่ก้าวร้าว หรือ มีลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น หรือ ใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง อันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น รวมทั้งสนับสนุน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อย่างสร้างสรรค์ โดยเคารพมุมมอง ของผู้ที่เห็นต่าง

3. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ดูแลการชุมนุม ให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย โดยใช้ความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งนี้ เพื่อรักษาความปลอดภัย ของผู้เข้าร่วมชุมนุม และประชาชน ที่สัญจรในบริเวณโดยรอบที่ชุมนุม

สำหรับกรณีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมบางรายนั้น เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย และพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหา ที่ละเมิดกฎหมาย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด และผู้ถูกกล่าวหาสามารถต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ชุมนุม ที่ถูกดำเนินคดี จะได้รับการเคารพอย่างเต็มที่ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยสอดคล้องกับ มาตรฐานสากล และพันธกรณีระหว่างประเทศ ด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี

ก่อนหน้านี้ สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ นิรโทษกรรมสากล ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วน เชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนกว่า 8 ล้านคนทั่วโลก ร่วมกันส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกร้องทางการไทย ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อ แกนนำชุมนุม ทั้ง 31 คน  ยุติการขัดขวางการเข้าร่วมชุมนุมของประชาชน หรือปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และการแสดงความเห็นในประเด็นทางสังคม

รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกกฎหมายที่มีเนื้อหากำกวม หรือคลุมเครือ เพื่อให้กฎหมายเหล่านี้ มีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกิจของประเทศ ที่จะเคารพ คุ้มครอง และเติมเต็มสิทธิ ในเสรีภาพการแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งการรณรงค์นี้จะมีไปถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2563

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo