Politics

พร้อมดับสวิตช์อีกราย ‘คำนูณ สิทธิสมาน’ ลั่นจะโหวตตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ

พร้อมดับสวิตช์ตัวเองอีกราย “คำนูณ สิทธิสมาน” ลั่นจะโหวตเห็นชอบแก้รัฐธรรมนูญ หนุนตั้ง ส.ส.ร. ตัดอำนาจ 250 ส.ว. ในการเลือกนายกฯ 

วันนี้ (6 ก.ย. 63) นาย คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว Kamnoon Sidhisamarn มีเนื้อหาหลักว่า ในวันที่ 24 กันยายน 2563 ซึ่งจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาในญัตติ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ นั้น ตนจะโหวตเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งประเด็นการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และการตัดอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว) จำนวน 250 คน

คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.

เห็นชอบตัดอำนาจ “ส.ว.” เลือกนายกฯ

“ผมจะโหวตเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ – ทั้งตั้ง ส.ส.ร. และตัดอำนาจ ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ !”

โดยภาพรวมแล้วรัฐธรรมนูญ 2560 ในส่วนของบทถาวร มีของดีอยู่เยอะ คำว่า ‘รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง’ ไม่ใช่สิ่งเกินเลย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณามาตรา 144 ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ไม่ให้นักการเมืองเข้ามามีส่วนใช้งบประมาณแผ่นดิน ส่วนมาตรา 54 ที่มีรวม 6 วรรคก็เป็น ‘ธรรมนูญด้านการศึกษา’ ที่ไม่รู้ว่าจะเขียนให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ที่มีบทบัญญัติเข้มข้นกว่าที่เคยมีมา

ส่วนใหญ่ของเสียงคัดค้านเป็น ‘บทเฉพาะกาล’ ที่ถูกตั้งคำถามหนักในประเด็นความชอบธรรมทางการเมือง อันเป็นเสมือนส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งของความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเฉพาะกาลมาตรา 269 ประกอบมาตรา 272 อันเป็นหัวใจสำคัญที่สุด

“คสช.คัดเลือก 250 ส.ว. แล้ว ส.ว. ร่วมเลือกอดีตหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี”

แน่นอน นี่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยตามปกติ

แต่ได้รับการอรรถาธิบายแก้ต่างจากหลายคน รวมทั้งผมเอง ว่าเป็นระบอบการเมือง ‘เฉพาะกิจ’ และ ‘เฉพาะกาล’ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ของความขัดแย้งที่ดำรงอยู่มาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงชนิดสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อมาแล้วหลายครั้งในรอบ 15 ปี เพื่อให้บรรลุ 2 เป้าหมาย

หนึ่ง – คือความสงบสุขในบ้านเมือง อย่างน้อยก็ชั่วคราว

สอง – คือเพื่อให้การปฏิรูปประเทศตามแผนงานเดินหน้าได้ดี ในช่วง 5 ปีแรก เพราะเชื่อว่าหากทำได้ ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่จะได้รับการแก้ที่สมุฏฐาน และจะเกิดความสงบสุขอย่างยั่งยืน ถึงขนาดมีบทบังคับว่าการปฏิรูปประเทศจะต้องเห็นผลภายใน 5 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญคือภายในวันที่ 6 เมษายน 2565

โดยมีการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 รองรับ

16.82 ล้านเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และ 15.13 เห็นด้วยกับประเด็นคำถามเพิ่มเติม

ได้โปรดสังเกตคำถามเพิ่มเติมในการลงประชามติครั้งนั้น

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

ขีดเส้นใต้ ‘เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่อง…’ ไม่ใช่จู่ ๆ ก็ขอใช้มาตรการพิเศษเฉย ๆ

คำอรรถาธิบายเหล่านี้จะมีที่มาจากเจตนาแท้จริงหรือไม่ หรือท่านจะเชื่อจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม ป่วยการที่จะเถียงกัน

ประเด็นนี้ผมนำมาใช้ชั่งน้ำหนักเพื่อไตร่ตรองในการตัดสินใจโหวตเห็นชอบหรือไม่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเริ่มต้นด้วยคำถามที่ผมต้องตอบตัวเองอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาก่อนก็คือ ณ บัดนี้ทั้ง 2 เป้าหมายอันเป็นฐานอ้างอิงความชอบธรรมรองรับมาตรการพิเศษ คือความสงบสุขของบ้านเมือง กับการปฏิรูปประเทศนั้น เมื่อได้ฉันทานุมัติจากประชาชนจนนำมาปฏิบัติแล้วมันสัมฤทธิผลเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ?

จะได้ตอบโจทย์ได้ว่ามันยัง ‘คุ้มค่า’ กับการคงไว้ต่อไปหรือไม่ ?

สภา27211

ชัดเจนว่า “ไม่คุ้มค่า” แล้ว

ประเด็นเรื่องความสงบสุขของบ้านเมืองนั้น ปรากฎชัดเจนต่อหน้าพวกเราทุกคนขณะนี้ว่า ไม่มีอยู่อย่างแน่นอนแล้ว เพราะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองขนาดหนักชนิดไม่เคยปรากฎมาก่อน การชุมนุมมวลชนกลับมาอีกในรูปแบบใหม่ ถ้าไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญเลยไม่ว่าจะในประเด็นไหนอย่างไรก็จะยิ่งซ้ำเติมให้ความไม่สงบยกระดับสูงขึ้น ประเด็นนี้สำคัญที่สุด เพราะแม้ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้จะตั้งอยู่บนสมุฏฐานร้าวลึกและหลากมิติของสังคมไทยที่สั่งสมมายาวนาน ต่อให้การแก้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ก็ใช่ว่าจะดับความขัดแย้งจนเกิดความสงบขึ้นในบ้านเมืองทันที หรือแม้แต่จะสงบลงโดยพื้นฐานก็ตาม

แต่ความพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ตามหน้าที่และอำนาจที่มีอยู่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย มิใช่หรือ ?

ส่วนการปฏิรูปประเทศนั้นต้องยอมรับว่าคืบหน้าช้ามาก และจะไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญเขียนกำหนดไว้ให้สัมฤทธิผลในปี 2565 อย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ ๆ ที่ทุกคนรอคอยอย่าง เช่น การปฏิรูปตำรวจที่แม้รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนเวลาบังคับไว้อย่างเข้มข้นโดยกำหนดให้เสร็จภายในปี 2561 ก็ไร้ผล

จำเป็นที่จะต้องกล่าวด้วยความเจ็บปวดว่า รัฐบาลชุดนี้ ‘สอบไม่ผ่าน’ ในเรื่องนี้ครับ

เฉพาะเรื่องการปฏิรูปตำรวจตามมาตรา 258 ง (4) นอกจากทำไม่เสร็จให้ใกล้เคียงภายใน 1 ปีตามบังคับรัฐธรรมนูญมาตรา 260 วรรคสองแล้ว ยังฝ่าฝืนบทเร่งรัดกึ่งลงโทษในมาตรา 260 วรรคสามอีก ด้วยการตราประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโสลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 มีผลบังคับใช้ 31 กรกฎาคม 2531 ที่มีแนวโน้มขัดรัฐธรรมนูญ ต่อมาเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2561 ใช้อำนาจ คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 20/2661 เรื่องมาตรการการสนับสนุนการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความต่อเนื่อง เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ได้รับการรับรองให้มีอยู่โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตรา 265 ให้ประกาศและการกระทำตามประกาศนั้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ทั้งในอดีต และต่อไปในอนาคตที่ไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาไว้ พูดง่าย ๆ ว่าเสมือนรัฐธรรมนูญมาตรา 260 ถูกแก้ไขไปแล้วในทางปฏิบัติหรือ de facto โดยคนส่วนใหญ่ไม่รู้

เรื่องนี้ผมได้อภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภาไปแล้วเมื่อ 31 สิงหาคม 2563

จริง ๆ เฉพาะเรื่องการไม่ปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ผมก็เกือบตัดสินใจได้แล้ว

ก็ในเมื่อมาตรา 44 โดยหัวหน้า คสช. ยังเสมือนแก้รัฐธรรมนูญในทางปฏิบัติไป 1 มาตราสำคัญเมื่อ 2 ปีมาแล้วได้ ทำไมผมต้องไปขวางการแก้รัฐธรรมนูญแบบตรงไปตรงมาด้วยเล่า ?

ผลลัพธ์คือตัวตัดสินการกระทำ !

เมื่อผลลัพธ์ออกมาแล้วโดยภาพรวมต่อหน้าพวกเราทุกคนว่าทั้งความสงบและการปฏิรูปประเทศไม่เกิดขึ้นจริง

เยาวชนปลดแอก

เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วผมขอตอบโจทย์โดยไม่ลังเล…

ขณะนี้ ‘ไม่คุ้มค่า’ ที่จะคงมาตรการพิเศษเฉพาะกิจและเฉพาะกาลช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะที่อ้างว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้า ไว้อีกต่อไป

ทำให้ตรงเป้าที่สุดก็คือตัด ‘มาตรา 272’ อำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีของ 250 ส.ว.ออกไปจากรัฐธรรมนูญ !  

ความคิดเบื้องต้นของผม คือควรแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราว่ากันเป็นประเด็น ๆ ไปก่อนเลย โดยต้องรวมเอาประเด็นที่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุด หรือที่ถูกมองว่าไร้ความชอบธรรมที่สุด คือมาตรา 272 ไว้ด้วย จะเหมาะสมกว่าการแก้ไขให้เกิดการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยส.ส.ร.

ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะมีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมกี่ร่าง มีแค่ 2 ร่างจากพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลที่มีหลักการแก้ไขเฉพาะมาตรา 256 วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.เท่านั้น หรือจะมีร่างแก้ไขรายประเด็นรายมาตราตัดมาตรา 272 ของส.ส.สาทิตย์ วงศ์หนองเตยเข้ามาเป็นร่างที่ 3 หรือยังจะมีร่างฯที่ 4 แก้ไขรายประเด็นรายมาตราตัดมาตรา 272 ของพรรคเพื่อไทยเข้ามาอีก

คิดเร็ว ๆ ในชั้นต้นที่ผมยังมีคำถามกับประเด็น ส.ส.ร.ก็เพราะ….

การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หมดทั้งฉบับโดย ส.ส.ร.ในลักษณะปราศจากกรอบ นอกจากห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 เท่านั้น เสี่ยงต่อการที่จะทำให้ของดี ๆ ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มีอันต้องหายไป

นอกเหนือจากหมวด 1 และหมวด 2 แล้ว ยังมีประเด็นที่ละเอียดอ่อนอีกมาก โดยเฉพาะประเด็นเหล่านี้…

– พระราชอำนาจในฐานะองค์พระประมุขแห่งรัฐที่อยู่นอกหมวด 2 อาทิ ในขั้นตอนการตราพระราชบัญญัติ หรือรัฐธรรมนูญ และอื่น ๆ

– กลไกขององค์กรอิสระต่าง ๆ ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ

– รวมทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ที่อาจถูกแปรเปลี่ยนไปเมื่อต้องยกร่างใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้น ก็ยังต้องใช้เวลาอีก 15 – 19 เดือนกว่าจะสำเร็จทุกขั้นตอน

แต่ครั้นคิดทบทวนดูอย่างรอบคอบแล้ว ในชั้นวาระที่ 1 นี้ จะให้ผม ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกวุฒิสภาชุดแรก 250 คนตามบทเฉพาะกาล มาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแบบยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ที่เสนอจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพรรคร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี ได้อย่างไร

ขอบอกว่าโดยตรรกะแล้ว ‘เป็นไปไม่ได้’ โดยสิ้นเชิง

คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.

ผมมิบังอาจขวางทาง

หนึ่ง คือ ประเด็นความสงบในบ้านเมือง

พวกเราส.ว. 250 คนในเบื้องต้นคือ ตำบลกระสุนตก เป็นประเด็นหลักของข้อกล่าวหาว่าเป็นความไม่ชอบธรรมหลักของรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่แล้ว ในทรรศนะและมุมมองของผู้คนจำนวนมากในประเทศนี้ ทั้งในรัฐสภาแห่งนี้ และนอกรัฐสภา ไม่ว่าทรรศนะและมุมมองนั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม ขืนพวกเราเป็นต้นเหตุให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 2 ฉบับตกไปอีก ก็หาทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมามีความชอบธรรมขึ้นไม่ หาทำให้บ้านเมืองสงบลงไม่

ตรงกันข้าม ความไม่สงบอย่างยิ่งชนิดไม่เคยพบเคยเห็นจะมาถึง ณ เบื้องหน้าทันที

เพราะนอกจากวุฒิสภาจะยิ่งถูกชี้หน้ากล่าวหาหนักขึ้นแล้ว นายกรัฐมนตรีก็จะตกอยู่ในสถานะหนักหนาสาหัสไปด้วยโดยถูกชี้หน้าว่า เล่นเกมการเมือง 2 หน้า หน้าหนึ่งไฟเขียวพรรคร่วมรัฐบาลเสนอร่างฯตั้งส.ส.ร. อีกหน้าหนึ่ง ส.ว. ที่ตนตั้งมากลับคัดค้านหรือสนับสนุนไม่ถึงเกณฑ์ทำให้ตกไป

สอง คือ ประเด็นประชามติ

ถ้าผมเคยยอมรับผลการประชามติ 7 สิงหาคม 2559 เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยเสียง 16.82 และ 15.13 ล้านเสียง และกล่าวอ้างว่าเป็นการตัดสินใจโดยตรงจากประชาชน จึงเป็นความถูกต้องชอบธรรมที่จะล้มล้างกันง่าย ๆ ไม่ได้ หากผมจะไม่เป็นคนกลับกลอกสองมาตรฐานหรือไร้มาตรฐาน ก็จะต้องยอมรับผลของการตัดสินใจโดยตรงจากประชาชนหลังจากนี้อีก 2 หรือ 3 ครั้งข้างหน้าด้วย คือ การประชามติอีก  1 – 2 ครั้ง และการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอีก 1 ครั้ง ที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ผ่านมติรัฐสภา 3 วาระแล้ว

อย่าลืมว่าการแก้ไขมาตรา 256 ให้ตั้ง ส.ส.ร. ไม่ได้จบที่ผลโหวตในรัฐสภา

แต่ตามกระบวนการต้องไปให้ประชาชนตัดสินใจโดยตรงโดยการลงคะแนนลับหย่อนลงหีบบัตรเลือกตั้งอีกรวมแล้ว 3 ครั้ง หากเป็นไปตามร่างฯของพรรคเพื่อไทย

ครั้งที่ 1 – ประชามติร่างร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256

ครั้งที่ 2 – เลือกตั้งส.ส.ร. 200 คน

ครั้งที่ 3 – ประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ส.ส.ร.

หากเป็นไปตามร่างฯพรรคร่วมรัฐบาล อาจจะเหลือเพียง 2 ครั้งแรกเท่านั้น โดยลดจำนวนส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งลงเหลือ 150 คน

ผมเป็นใครครับ ?

ผมจะถือสิทธิอะไรไป ‘ขวางทาง’ การตัดสินใจโดยตรงของประชาชนถึง 2 – 3 ครั้งข้างหน้า ?

ผมผู้ซึ่งมาจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกตีตราชี้หน้าว่าไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรม ไม่ว่าการตีตราชี้หน้านั้นจะถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ก็ตาม !

ผมมิบังอาจหรอกครับ !!

แม้การตัดสินใจโดยตรงจากประชาชนโดยการลงคะแนนลับในหีบบัตรเลือกตั้ง อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดเสมอไป โดยเฉพาะภายใต้สภาพการณ์ทางสังคมวิทยาการเมืองของบ้านเราอย่างที่เคยเป็นมาและยังเป็นอยู่ ต่อให้เป็นการตัดสินใจถึง 2 – 3 ครั้งก็เถอะ

แต่มีคำตอบที่ดีกว่านี้หรือไม่ในวันนี้

เมื่อไม่มีคำตอบที่ดีกว่านี้ แล้วจะให้ผมไปลงมติที่จะเป็นการขวางทางไปสู่คำตอบดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ในวันที่สถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

วันที่ 24 กันยายน 2563 ผมจึงมิอาจลงมติเป็นอื่นได้ นอกจากลุกขึ้นเปล่งวาจา…

“เห็นชอบครับ”

ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรายประเด็นรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 272 ถ้ามีร่างฯ เสนอเข้ามา หรือการแก้ไขเพิ่มเติมหมวดใหม่ให้มี ส.ส.ร. ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับตามร่างฯที่เสนอเข้ามาแล้ว 2 ฉบับ

คำนูณ สิทธิสมาน

สมาชิกวุฒิสภา

6 กันยายน 2563

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo