Business

รัฐบาล ยัน ‘แจกเงิน 3000 บาท’ จะทำอย่างรอบคอบ เกิดประโยชน์สูงสุด

แจกเงิน 3000 บาท “โฆษกรัฐบาล” ยืนยันจะดำเนินการโครงการช่วยเหลือประชาชนด้วยความรอบคอบ เกิดประโยชน์สูงสุด ด้าน “หญิงหน่อย” โวยรัฐบาล “กู้เงินมาแจก ก็ยังแจกไม่เป็น”

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงโครงการแจกเงิน 3000 บาทเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยระบุว่า มาตรการช่วยเหลือประชาชน จากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด โดยการช่วยค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน 15 ล้านคน ในวงเงิน 3,000 บาทต่อคนว่า มาตรการดังกล่าว เป็นเพียงหลักการเบื้องต้น ที่ทางกระทรวงการคลัง ได้นำเสนอในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. เท่านั้น ยังไม่ได้เป็นข้อสรุป ที่จะอนุมัติให้ดำเนินการโครงการแต่อย่างใด

“โครงการดังกล่าว อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดโครงการเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ศบศ. ครั้งต่อไปภายในสองสัปดาห์ข้างหน้า” นายอนุชา กล่าว

แจกเงิน 3000

อย่างไรก็ตาม จากนี้กระทรวงการคลัง กำลังดำเนินการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ทั้งในส่วนของประชาชน ที่จะลงทะเบียนได้รับสิทธิ์ และร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยขอให้ครอบคลุม ผู้ประกอบการรายย่อยให้ได้มากที่สุด และเมื่อกระทรวงการคลัง ได้ข้อสรุป จะนำเสนอเพื่อขอมติจาก ศบศ. และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนได้มั่นใจว่า รัฐบาลจะดำเนินการโครงการ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ด้วยความรอบคอบ และให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก่ประชาชนทั่วไป เงินช่วยเหลือดังกล่าวนี้ รัฐบาลตั้งใจ ที่จะให้ประชาชนสามารถนำไปใช้จ่ายได้ที่ร้านค้าทั่วไป ร้านหาบเร่แผงลอย ร้านโชห่วยต่างๆ รวมถึง การซื้อสินค้าในตลาดสดและตลาดนัด เพื่อให้ผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้า สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ให้ได้มากที่สุด และเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลได้อย่างเต็มที่

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงโครงการ แจกเงิน 3000 บาท ก่อนหน้านี้ว่า ตามที่สื่อบางสำนัก รายงานโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ประชาชน 15 ล้านสิทธิ์ รับ 3,000 บาท เพื่อจับจ่ายใช้สอย เป็นการเอื้อทุนใหญ่ เงินเข้ากระเป๋าห้างสรรพสินค้า และ ร้านสะดวกซื้อ รัฐบาลขอชี้แจงว่า โครงการดังกล่าว เป็นมาตรการทางเศรษฐกิจ เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ที่ต่อยอดจากโครงการชิมช้อปใช้

โดยร้านค้าที่เข้ามาโครงการ จะยังเหมือนเดิม แต่วัตถุประสงค์หลัก ของโครงการนี้ เพื่อขยายร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีเป้าหมาย คือกลุ่มร้านค้าหาบเร่แผงลอย ร้านโชห่วย ร้านขายข้าวแกง ร้านขายอาหาร และ เครื่องมือตามตลาด หรือ ตลาดนัด เป็นต้น เพื่อกระจายรายได้ลงสู่ผู้ประกอบการรายเล็กให้ได้มากที่สุด

“รัฐบาลได้กำหนดหลักการเบื้องต้น ให้สามารถใช้จ่ายได้วันละ 100 บาท โดยรัฐออกค่าใช้จ่ายให้ 50% ผู้ได้รับสิทธิ์ออกเอง 50% ให้สอดคล้องในการจับจ่ายใช้สอยกับผู้ประกอบการรายเล็ก เช่น การซื้ออาหาร เครื่องดื่ม ตามร้านค้าหาบเร่แผงลอง หรือร้านโชห่วย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการดังกล่าว รัฐบาลต้องการช่วย เรื่องค่าครองชีพของประชาชน พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ลงไปสู่ผู้ค้ารายเล็กรายน้อย หลังจากที่ได้ผลกระทบ จากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยไม่ได้ตั้งเป้า ให้เงินเข้ากระเป๋าทุนใหญ่แต่อย่างใด แม้โครงการดังกล่าว จะมีห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อเข้าร่วมก็ตาม แต่จะเห็นได้ว่า หลักเกณฑ์การใช้จ่ายนั้น เอื้อให้มีการซื้อของกับผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยจริงๆ

แจกเงิน 3000
ภาพจากเฟซบุ๊ค คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ด้าน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan ถึงการ แจกเงิน 3000 บาท ของรัฐบาลโดยระบุว่า มาตรการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศโดย แจกเงิน 3000 บาท ให้คนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 15 ล้านคน ให้เวลาใช้ 3 เดือนโดยกำหนดให้ใช้วันละ 100 – 250 บาท ผ่านร้านค้าที่ขึ้นทะเบียน ทำให้ดิฉันมีความเป็นห่วงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น

ถ้ายังจำกันได้ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 รัฐบาลได้ออก พรก. กู้เงินจำนวน 1.0 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งนับเป็นการกู้เงินจำนวนมากที่สุดของประเทศ แต่จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 5 เดือน รัฐบาลก็ยังคงวนเวียนกับการแจกเงินแบบที่เคยทำมาก่อนเกิดโควิด และทำมาตลอด 6 ปีกว่าที่ พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

แปลว่า รัฐบาลยังคิดมาตรการอื่นที่ดีกว่าการแจกเงินไม่ออก ปัญหา คือ จะมีปัญญาแจกเงินไปได้อีกนานเท่าไร ผลของความล้มเหลวของการแจกเงิน ดังกล่าวแสดงออกมาในรูปของการจัดเก็บภาษี ปรากฏว่า สิ้นสุดเดือนกรกฎาคม 2563 รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการถึง 267,810 ล้านบาท คาดว่า สิ้นปีงบประมาณ 2563 การจัดเก็บภาษีอากรน่าจะติดลบเกินกว่า 300,000 ล้านบาท

แสดงว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่กู้เงินมาใช้เงินอย่างมโหฬารไม่ได้ผล คาดว่า สิ้นปีงบประมาณ 2564 หนี้สาธารณะจะสูงเกิน 60% ที่เป็นกรอบความยั่งยืนทางการคลังซึ่งจะทำให้รัฐบาลก่อหนี้ไม่ได้อีก แปลว่า รัฐบาลประยุทธ์ จะล้มละลายทางการคลัง ความหายนะจะบังเกิดกับประชาชน

ความน่าเป็นห่วงของมาตรการแจกเงินครั้งนี้ คือ เงินที่แจกที่มาจากการกู้ และเป็นหนี้ที่ประชาชนต้องชดใช้ ซึ่งกว่าจะใช้หนี้หมดคงใช้เวลาเกือบ 100 ปี แต่จะไม่เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย หรือ เอสเอ็มอี เพราะรัฐบาลไม่ได้มีมาตรการอะไร ที่จะทำให้พ่อค้าแม่ค้ารายเล็ก รายน้อย ได้ประโยชน์จากเงินที่แจก โดยทำกระบวนการแจกยุ่งยาก ต้องใช้ผ่านแอป ซึ่งเอื้อกิจการรายใหญ่ทั้งสิ้น ถ้าคิดจะแจกให้คนจนได้ประโยชน์ก็แจกเป็น “เงินสด” เลยดีกว่า

ส่วนที่รัฐบาลคิดว่า คนไทยไม่มีกำลังซื้อ จึงต้องแจกเงิน แล้วทำไมจึงคิดว่า พ่อค้า แม่ค้า ที่หมดตัวไปแล้ว ยังมีทุนไปซื้อของมาขายเพื่อรับเงินที่รัฐบาลแจกคน 15 ล้านคน ผลคือ เงินที่กู้มาแจกจะไหลไปสู่กระเป๋าเจ้าสัวเพียงไม่กี่ราย ทำให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก

“กู้เงินมาแจก ก็ยังแจกไม่เป็น”

ปัญหาของรัฐบาลนี้ คือ การที่นายกมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจ และที่สำคัญที่สุด คือ ไม่มีความจริงใจต่อประชาชน คิดแต่จะอุ้มคนรวย โดยอ้างคนจนบังหน้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo