Business

‘​ราคายาง’ พุ่งทะลุกิโลกรัมละ 60 บาท ในรอบ 3ปี ผลจาก ‘การตลาดนำการผลิต’

​ราคายาง พุ่งทะลุ 60 บาทต่อกิโล ครั้งแรกในรอบ 3 ปี รัฐบาลมั่นใจมาถูกทาง เดินหน้ายุทธศาสตร์ “การตลาดนำการผลิต”บริหารอุปสงค์อุปทานในประเทศ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์ ราคายาง ว่า ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขยับเกิน 60 บาทต่อกิโลกรัม เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการในตลาดโลก โดยเฉพาะประเทศจีน ที่มีการสั่งซื้อปริมาณมากหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

สวนยางพารา ๒๐๐๙๐๕
​ราคายาง

ดังนั้น เพื่อให้ยางพาราไทย มีศักยภาพทางการแข่งขัน เป็นที่ต้องการมากกว่าสินค้าจากประเทศอื่น การผลิตจึงต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งด้านราคาและคุณภาพ

สำหรับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ “การตลาดนำการผลิต” มอบหมายให้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มมูลค่า ต่อยอด และลดข้อจำกัด ผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ เจาะตลาดผลิตภัณฑ์ยางเฉพาะกลุ่ม ขยายตลาดต่างประเทศ ลดต้นทุนการผลิต

ทั้งนี้ จะมีโครงการสำคัญเกิดขึ้นหลายโครงการ เช่น

  • โครงการสนับสนุนการทำวิจัย และพัฒนาสินค้ายางพารา ให้แก่คนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างบุคลากรคุณภาพ สำหรับอุตสาหกรรมยางพารา
  • แผนผลักดัน “สตาร์ตอัพ” เป็นการให้การช่วยเหลือแหล่งทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ
  • โครงการรับเบอร์วัลเล่ย์ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง การผลิตสินค้านวัตกรรมยางพารา ครบวงจรของโลก ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความคุ้มค่า และดึงดูดนักลงทุน โดย กยท.คัดเลือกพื้นที่ในจังหวัด นครศรีธรรมราช คาดว่าจะได้ข้อสรุป ภายในสิ้นปีนี้

ขณะที่การแพร่ระบาด ของโควิด-19 แม้จะมีผลกระทบต่อความต้องการใช้ยางพาราในภาพรวมช่วงต้นปี แต่การส่งออกถุงมือยางของไทย ซึ่งเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากมาเลเซีย กลับมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 8-15% ด้วยโอกาสอันน่าสนใจบวกกับศักยภาพของประเทศ

รัชดา ธนาดิเรก
รัชดา ธนาดิเรก

พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางธรรมชาติของโลก” ที่คาดว่าในปีนี้ จะมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท โดย กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลัก จะบูรณาการการทำงานกับหลายภาคส่วน

ตัวอย่างเช่น กระทรวงพาณิชย์ผลักดันเรื่องการตลาด จัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทย ผ่านกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ระหว่างผู้ค้า และผู้ซื้อถุงมือยาง การทำงานร่วมกันของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ มหาวิทยาลัยต่างๆ และผู้ประกอบการถุงมือยาง เรื่องงานวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีถุงมือยาง ควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้า เพื่อมุ่งเป้าตลาดต่างประเทศ

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลได้เดินหน้า ในเรื่องการจัดการอุปสงค์อุปทาน ยางพาราในประเทศ เพราะตระหนักดีว่า จะพึ่งพิงการส่งออกเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ที่ผ่านมา มีการเร่งรัดการใช้ยางพารา ของหน่วยงานภาครัฐไปแล้ว

สำหรับปี 2563-2565 มีแผนการใช้ยางพารา ของกระทรวงคมนาคม ปริมาณ 1 ล้านตัน ในโครงการอุปกรณ์ทางด้านการจราจร มากไปกว่านั้น ยังมีมาตรการลดอุปทานยาง ตั้งเป้าทำโซนนิ่งพื้นที่ 2 ล้านไร่ ที่เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะได้รับการส่งเสริม ให้ปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทน หรือปลูกพืชผสมผสาน คาดจะลดปริมาณการผลิตได้ประมาณ 5 แสนตัน เบื้องต้น ตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะทำการโซนนิ่งได้ 4 แสนไร่

นอกจากนี้ ราคายางพารา มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความต้องการของตลาดโลกและประเทศจีน การใช้ การตลาดนำการผลิต จะทำให้ยางพาราไทยมีโอกาสส่งออกมากกว่าประเทศอื่น เพราะใช้ความต้องการของตลาดเป็นตัวตั้ง

สิ่งที่สำคัญ ขอให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ ร่วมมือในการปรับตัว จะทำตามที่เคยชินโดยไม่สนใจตลาด และคู่แข่งไม่ได้ ส่วนมาตรการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ จากภาครัฐ และการลดพื้นที่ปลูกยาง จะมีส่วนช่วยยกระดับราคายาง ในระยะยาว ได้อย่างแน่นอน

สำหรับโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ได้ผ่านการเห็นชอบในหลักการ ของ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติแล้ว รอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ขอให้เกษตรกรมั่นใจว่า รัฐบาลมีมาตรการสร้างเสถียรภาพราคายาง และดูแลชาวสวนยาง ในยามที่ราคาตกต่ำ แต่ทุกอย่างจะสำเร็จได้ ก็ต้องมาจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน” รองโฆษกฯ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo