Business

‘ดัชนีนวัตกรรมโลก’ ไทยคว้าอันดับที่ 44 ซิวแชมป์ลงทุนวิจัยพัฒนา

ดัชนีนวัตกรรมโลก เอ็นไอเอเผยผลการจัดอันดับ ไทยคว้าอันดับที่ 44 จาก 131 ประเทศทั่วโลก นั่งแท่นอันดับ 1 โลกด้านการลงทุนใน R&D ของเอกชนไทย

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) เปิดเผยว่า ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index: GII) ประจำปี 2563 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 44 ในขณะที่ปัจจัยค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศ สำหรับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจต่างๆ และปัจจัยการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ ถูกจัดเป็นอันดับ 1 ของโลก

ดัชนีนวัตกรรมโลก

สำหรับ ดัชนีนวัตกรรมโลก จัดโดย องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยคอร์เนล และ The Business School for the World (INSEAD) เพื่อวัดระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรม เสมือนมาตรวัดเปรียบเทียบเชิงเวลา และการเปรียบเทียบเชิงแข่งขัน ทางด้านนวัตกรรม ของแต่ละประเทศกว่า 131 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ เป็นการบ่งชี้สถานะความสามารถทางด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะการเงินนวัตกรรม ที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย จากสภาพบริบทของโลก ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ถือเป็นประเด็นสำคัญทางธุรกิจ และการขับเคลื่อนนโยบาย ในภาวะที่การแข่งขัน ในด้านการค้า และการลงทุนจากต่างประเทศ มีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสโคโรน่า -19 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และภัยพิบัติทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศ กลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน (upper middle-income economies) ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 4 จากจำนวน 37 ประเทศ โดยประเทศไทยมีอันดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในทุกปัจจัย ยกเว้นปัจจัยด้านทุนมนุษย์และการวิจัย

ดัชนีนวัตกรรม

แต่หากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 10 จากจำนวน 17 ประเทศ อันดับ

สำหรับปัจจัยชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรม แบ่งออกเป็น 7 เสาหลัก (Pillar) ได้แก่ 1. สถาบัน 2. ทุนมนุษย์และการวิจัย 3. โครงสร้างพื้นฐาน 4. ระบบตลาด  5. ระบบธุรกิจ 6. ผลผลิตจากองค์ความรู้ และเทคโนโลยี และ 7. ผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์

ส่วนประเทศไทย ปรับตัวดีขึ้นถึง 4 ปัจจัย ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน อยู่อันดับ 67 จากเดิม 77, ระบบตลาด ได้อันดับ 22 จากเดิม 32, ระบบธุรกิจ อยู่อันดับ 36 จากเดิม 60 และผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ อยู่อันดับ 52 จากเดิม 54

การปรับตัวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศ สำหรับการวิจัย และพัฒนา ซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจต่างๆ โดยอยู่ในอันดับ 1 สะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชน ในประเทศไทย ที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจ ด้วยการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

ขณะที่ด้าน ปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม ทั้งในส่วนของผลผลิต จากองค์ความรู้และเทคโลยี และ ผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ ถูกจัดอันดับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ ถูกจัดเป็นอันดับ 1 ของโลกที่มีการสินส่งสินค้าประเภทนี้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญ ในการสร้างขีดความสามารถนวัตกรรม ที่ยังเป็นข้อด้อยของประเทศ ส่วนใหญ่เกิดขึ้น ระหว่างปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม เช่น สภาพแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ อัตราส่วนของครูและนักเรียน และการบริการนำเข้าเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร การบริการส่งออกเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo