Business

ชงข้อเสนอ สร้างบ้านได้ลดภาษี 2% เว้นภาษีที่ดินเปล่าสำหรับปลูกบ้าน

สร้างบ้านได้ลดภาษี 2% สมาคมรับสร้างบ้าน เสนอนายกฯ ผ่าน3 ประเด็นหลัก ขอเว้นภาษีที่ดินเปล่าเพื่อปลูกบ้าน หวังกระตุ้นผู้ต้องการปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยจริง

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายก สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมประชุม workshop กับภาคธุรกิจต่างๆ ตามแนวทาง “รวมไทยสร้างชาติ” สมาคมฯ ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือ และ กระตุ้นธุรกิจร้บสร้างบ้าน ผ่าน 3 มาตรการหลัก ได้แก่ สร้างบ้านได้ลดภาษี ขอยกเว้นค่าภาษีที่ดิน และ หนุนบุคลากรสายอาชีวะศึกษา ป้อนอุตสาหกรรม

สร้างบ้านได้ลดภาษี

ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดบ้านสร้าง มีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก จากข้อมูลของ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เห็นได้จาก บ้านเดี่ยว ที่ขออนุญาตก่อสร้างเองทั่วประเทศ (บ้านที่อยู่นอกโครงการจัดสรร) ในปี 2562 มีถึง 100,657 หลังคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 208,675 ล้านบาท

ในจำนวนนี้ หากแยกเป็นบ้านเดี่ยว ที่จดทะเบียนใหม่ใน กรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2562 ซึ่งเป็นบ้านที่ประชาชนสร้างเอง มีจำนวน 18,029 หลัง เพิ่มขึ้น 3% จากปี 2561

นอกจากนี้ ยังมีที่ดินว่างเปล่าไม่น้อยกว่า 120 ล้านตารางเมตร และในจำนวนนี้กว่า 50% อยู่ใน 10 เขตหลัก ที่เป็นพื้นที่สำหรับสร้างบ้านเอง และในขณะเดียวกัน มีบ้านที่สร้างเองที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปมีจำนวน 300,000 หลัง ที่พร้อมจะรื้อถอน และปลูกสร้างใหม่

03

จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคที่ปลูกสร้างบ้านเองนั้น จะเป็นกลุ่มคนที่เก็บ และออมเงิน สำหรับปลูกสร้างบ้านของตนเอง และเป็น Real Demand ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องการสร้างบ้านเพื่ออยู่จริง ไม่ใช่เพื่อเก็งกำไร ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้ จะขอกู้ธนาคารเพียง 50%

ด้วยเหตนี้ ทางสมาคม ธุรกิจรับสร้างบ้าน จึงต้องการให้รัฐบาลช่วยสนับสนุน ในประเด็นหลัก ๆ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในส่วนของผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน

ที่ผ่านมารัฐบาลรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่กลุ่มธุรกิจบ้านสร้าง ไม่เคยอยู่ในข่ายที่ได้รับความช่วยเหลือ จึงขอให้รัฐบาลสนับสนุน ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา 2% ของค่าปลูกสร้างบ้านแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ในเวลา 5 ปี สามารถนำไปลดหย่อนเฉลี่ยเท่าๆกัน ของรอบบัญชีภาษี

06

ขณะเดียวกัน เสนอมาตรการยกเว้นภาษีที่ดิน ให้ผู้มีที่ดินเปล่าไว้สำหรับปลูกสร้างบ้าน โดยเฉพาะบ้านหลังแรกหรือคนที่ไม่เคยมีบ้านเลย ไม่เกินคนละ 200 ตารางวา ซึ่งมาตรการดังกล่าว ถ้าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ก็จะทำให้บุคคลทั่วไป สามารถมีที่อยู่อาศัย เป็นของตนเองได้ ทั้งที่มีที่ดินอยู่แล้ว จะไม่ต้องขายออกไปเพื่อลดภาระภาษี หรือผู้ที่จะซื้อที่ดินเก็บไว้เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ก็จะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

ประเด็นที่ 2 การลงทะเบียนผู้ประกอบการรับสร้างบ้านให้อยู่ในระบบ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐาน และลดเรื่องการทิ้งงาน สร้างบ้านแล้วไม่ได้บ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่ อีกทั้งจะเป็นการที่ภาครัฐยังสามารถจัดเก็บภาษีเพื่อที่จะเข้ามาอยู่ในระบบอีกไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี

02 2

ประเด็นที่ 3 ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรด้านอาชีวศึกษา

ปัจจุบันในภาค ธุรกิจรับสร้างบ้าน ยังขาดบุคลากร ที่มีความรู้ความสามารถ ในด้านอาชีวะเพื่อมาพัฒนางานด้านนี้ อีกจำนวนมาก จึงอยากให้รัฐช่วยส่งเสริมเพื่อให้เด็กรุ่นใหม่รวมถึงผู้ปกครองเห็นคุณค่าของงานด้านอาชีวะศึกษา และมีการพัฒนาต่อยอดงานด้านคุณวุฒิวิชาชีพให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

พร้อมกันนี้นายวรวุฒิ ยังกล่าวด้วยว่า ยังมีกติกาของรัฐ ที่ยังเป็นอุปสรรคที่ต้องการให้มีการแก้ไข โดยเฉพาะในเรื่อง การขออนุญาตปลูกสร้างตามเขตต่าง ๆ มีความล่าช้า และไม่ได้รับความสะดวก จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ การขอใบอนุญาตก่อสร้างของภาครัฐ มีการปฎิรูปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่เข้าร่วมหารือครั้งนี้ ประกอบด้วย นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน, นางพัชรา ตัณฑยรรยง กรรมการกิตติมศักดิ์ และ นายโอฬาร จันทร์ภู่ เลขาธิการสมาคมฯ พร้อมกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และ ตัวแทนจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ด้วยมากกว่า 25 คน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo