Politics

‘รองโฆษกรัฐบาล’ โต้นโยบายแจกเงิน 3,000 บาท ไม่ได้ช่วยนายทุน แต่เอื้อรายเล็ก

“รองโฆษกรัฐบาล” โต้นโยบาย แจกเงิน 3000 บาท ไม่ได้ช่วยนายทุนใหญ่ แต่เอื้อผู้ประกอบการรายเล็ก เขียนหลักเกณฑ์ ใช้ได้วันละ 100 บาท ออกคนละครึ่ง สอดคล้องพฤติกรรมช้อปปิ้งของหาบเร่แผงลอย

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่มีสื่อบางสำนักรายงานว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ประชาชน 15 ล้านสิทธิ์ รับ 3,000 บาท เพื่อจับจ่ายใช้สอย เป็นการเอื้อทุนใหญ่ เงินเข้ากระเป๋าห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อนั้น

ไตรศุลี แจกเงิน 3000 บาท

ขอชี้แจงว่า โครงการดังกล่าวเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ที่ต่อยอดจากโครงการชิมช้อปใช้ โดยร้านค้าที่เข้ามาโครงการจะยังเหมือนเดิม แต่วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้ เพื่อขยายร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีเป้าหมายคือกลุ่มร้านค้าหาบเร่แผงลอย ร้านโชห่วย ร้านขายข้าวแกง ร้านขายอาหารและเครื่องมือตามตลาดหรือตลาดนัด เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อกระจายรายได้ลงสู่ผู้ประกอบการรายเล็กให้ได้มากที่สุด

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า เพื่อให้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจถึงมือผู้ประกอบการรายเล็กมากที่สุด โครงการดังกล่าวจึงได้กำหนดหลักการเบื้องต้น ให้สามารถใช้จ่ายได้วันละ 100 บาท โดยรัฐออกค่าใช้จ่ายให้ 50% ผู้ได้รับสิทธิ์ออกเอง 50%

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องในการจับจ่ายใช้สอยกับผู้ประกอบการรายเล็ก เช่น การซื้ออาหาร เครื่องดื่ม ตามร้านค้าหาบเร่แผงลอง หรือร้านโชห่วย โดยภาครัฐจะพยายามช่วยให้ผู้ค้ารายเล็กรายน้อย ได้เข้าร่วมโครงการให้ได้มากที่สุด เพื่อจะเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล

สำหรับโครงการดังกล่าว รัฐบาลต้องการช่วยเรื่องค่าครองชีพของประชาชน พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจให้ลงไปสู่ผู้ค้ารายเล็กรายน้อย หลังจากที่ได้ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยไม่ได้ตั้งเป้าให้เงินเข้ากระเป๋าทุนใหญ่แต่อย่างใด แม้โครงการดังกล่าวจะมีห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อเข้าร่วมก็ตาม แต่จะเห็นได้ว่า หลักเกณฑ์การใช้จ่ายนั้น เอื้อให้มีการซื้อของกับผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยจริงๆ

แจกเงิน 3000 บาท

รายละเอียด “แจกเงิน 3000 บาท”

ล่าสุดกระทรวงการคลังให้ข้อมูลว่า มาตรการกระตุ้นการบริโภค แจกเงิน 3000 บาท ให้กับประชาชนอายุ 18 ปี ขึ้นไป จำนวน 15 ล้านคน จะเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิผ่าน www.คนละครึ่ง.com ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563 นี้

ชื่อเว็บไซต์ที่ใช้ลงทะเบียนนั้น ต้องการสื่อสารให้ชัดเจนว่า มาตรการนี้รัฐไม่ได้แจกเงินอย่างเดียว แต่ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ต้องร่วมจ่ายเงินในการซื้อสินค้าอุปโภค คนละครึ่ง หนึ่งด้วย

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังเร่งสรุปรายละเอียดของโครงการทั้งหมด เพื่อเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะได้ดำเนินการเตรียมพร้อมระบบการลงทะเบียน เงินที่จะมาใช้ในโครงการให้ทันกลางเดือนตุลาคมนี้

สำหรับเงื่อนไขขร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการขณะนี้ ก็นำร้านค้าจากโครงการ ชิมช้อปใช้ ประมาณ 5 – 6 หมื่นร้าน และจะมีการลงพื้นที่เพื่อให้ร้านค้าหายเร่แผงลอยเข้าโครงการให้มากที่สุด

ส่วนการเปิดให้ร้านค้าสะดวกซื้อต่างๆ เช่น ร้านเซเว่น ห้างสรรพสินค้า เข้าร่วมโครงการด้วยนั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเป้าหมาย คือ ต้องการให้เกิดการใช่จ่ายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้มากที่สุด

“โครงการนี้กำหนดไว้ 15 ล้านคน ซึ่งเป็นการร่วมจ่ายการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ระหว่างผู้ได้สิทธิกับรัฐบาลคนละครึ่ง จึงอยากให้ผู้ได้สิทธิมีกำลังและต้องการซื้่อจริงๆ หากมีคนลงทะเบียนเกินจำนวนมาก ก็สามารถเสนอให้รัฐบาลขยายได้ เพราะถือว่าเป็นประโยชน์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าว

ใครมีโอกาสเข้าร่วมโครงการ?

  • ผู้มีสัญชาติไทย
  • อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

สำหรับผู้ที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวมีจำนวนทั้งสิ้น 15 ล้านคน

ลงทะเบียนอย่างไร?

  • ผ่านทาง www.คนละครึ่ง.com โดยการลงทะเบียนมีลักษณะคล้ายชิมช้อปใช้คือ คนที่ลงทะเบียนก่อนจะมีสิทธิ์ได้ก่อน

ใช้งานอย่างไร?

  • ใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น เป๋าตัง คาดว่า จะมีการเติมเงินเข้าให้ที่แอปพลิเคชันนี้ เมื่อจับจ่ายซื้อของ ต้องจ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชั่น โดยทางรัฐจะออกเงินให้ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งผู้ใช้ออกเอง

จำกัดวงเงินการใช้จ่ายหรือเปล่า?

  • คาดว่าไม่เกินวันละ 100-250 บาท

ใช้ได้ที่ไหนบ้าง?

  • ร้านค้าทั่วไปที่เข้าร่วมโครงการ และเซเว่น ร้านสะดวกซื้ออื่น ๆ และ สินค้าที่ซื้อ จะครอบคลุมแค่อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอื่น ๆ ยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่

เริ่มได้เมื่อไร?

  • ประมาณตั้งแต่เดือนตุลาคม ไปสิ้นสุดที่เดือนธันวาคม 2563

โครงการนี้จะช่วยประเทศไทยได้จริงหรอ?

  • เงินจะลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 9 หมื่นล้านบาท กระตุ้นจีดีพีได้ 0.25%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo