Business

ค้าปลีกอ้อนรัฐ อัดงบ 7.5 หมื่นล้าน จัดช้อปช่วยชาติ – ปล่อยกู้ดอกต่ำเอสเอ็มอี

จัดช้อปช่วยชาติ วงเงิน 5 หมื่นล้าน สร้างเงินสะพัด 7.5 หมื่นล้าน สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชงนายกฯ วอนปล่อยกู้ดอกต่ำ 2.5 หมื่นล้าน ชุบชีวิตเอสเอ็มอี

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธาน สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ร่วมเสนอแนะความคิดเห็น ด้านแนวทาง และการฟื้นฟูภาคธุรกิจค้าปลีก ท่ามกลางวิกฤติที่เผชิญอยู่ โดยเน้นมาตรการเร่งด่วนคือ ขอให้รัฐบาลใช้งบ 50,000 ล้านบาท จัดช้อปช่วยชาติ และวงเงิน 25,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ต่อลมหายใจเอสเอ็มอีไทย

จัดช้อปช่วยชาติ

ทั้งนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้จัดทำข้อเสนอ เพื่อช่วยฟื้นฟูภาคธุรกิจค้าปลีก โดยเแบ่งเป็น แนวทางการพัฒนาระยะสั้น และ แนวทางพัฒนาเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ดังนี้

  • แนวทางการพัฒนาระยะสั้น

1. มาตรการพยุงการจ้างงาน

  • จ้างงานรายชั่วโมง

ทั้งนี้ เนื่องจากธุรกิจการค้าปลีก สินค้าและบริการ มีช่วงเวลาการให้บริการที่ไม่สม่ำเสมอ ช่วงที่ลูกค้าหนาแน่น ก็จะเป็นช่วงเที่ยงและช่วงเย็น รวมทั้งเสาร์ อาทิตย์ ซึ่งแตกต่างจากการดำเนินงานภาคผลิตอย่างสิ้นเชิง หากภาครัฐประกาศอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมง ในช่วงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ก็จะช่วยกระจายการจ้างงานได้

ขณะเดียวกัน ลูกจ้างก็จะสามารถรับงานได้ยืดหยุ่น และมีระยะเวลาทำงานได้มากขึ้น โดยสามารถทำงานได้กับหลายบริษัทใน 1 วันได้ ส่วนนายจ้างก็สามารถเพิ่มอัตราการจ้างงาน ให้เหมาะสมกับช่วงเวลาที่ต้องการได้

สมาคมฯจึงขอเสนอให้ กระทรวงแรงงาน ประกาศค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ เป็นรายชั่วโมง อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น โดยหากสามารถจ้างงานได้มากกว่า 20% จะสามารถสร้างงานเพิ่มได้มากกว่า 1.2 ล้านอัตรา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะภาคการค้าปลีก แต่จะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนและทุกขนาดของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจ โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร และธุรกิจบริการอื่นๆ อีกด้วย

ข้อเสนอค้าปีก 01

  • จัดโครงการช้อปช่วยชาติ ด้วยวงเงิน 50,000 บาท ในกรอบเวลา 60 วัน เพื่อกระตุ้นการบริโภคในวงกว้าง ซึ่งจะสามารถสร้างเงินสะพัด 75,000 ล้านบาท ภายใน 60 วัน
  • ทดลองปรับลดภาษีนำเข้าชั่วคราว เป็นเวลา 4 เดือน เช่น ลดจากเดิม 30% เป็น 10% เพื่อกระตุ้นการบริโภคในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะสินค้าไลฟ์สไตล์นำเข้า ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ในไทยสูงถึง 30% ซึ่งสูงที่สุดใน 15 ประเทศในแถบเอเชีย ทำให้คนหันไปซื้อสินค้าที่ต่างประเทศแทน โดยคาดว่า จะสามารถสร้างเงินสะพัดได้ถึง 25,000 ล้านบาท ภายใน 4 เดือน

2. ขับเคลื่อน SME ให้อยู่รอดและแข็งแรง

เสนอให้ใช้งบประมาณ 25,000 ล้านบาท จากวงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่รัฐตั้งไว้แล้ว ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) 0.1% ผ่านผู้ค้าปลีกรายใหญ่ และเร่งจ่ายเงิน SME ขนาดเล็กจากเดิม 30 วัน เป็นภายใน 7 วัน จะช่วยเพิ่มสภาพคล่อง SME กว่า 5 แสนราย และไม่สร้างหนี้เสียให้ธนาคารพาณิชย์

  • แนวทางพัฒนาเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส

1. มาตรการควบคุมอีคอมเมิร์ซ ห้ามขายต่ำกว่าทุนและการเสียภาษี

เสนอให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรก และห้าม อีคอมเมิร์ซ ขายราคาต่ำกว่าทุน เนื่องจากจะทำให้เอสเอ็มอี และค้าปลีกไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก

ทั้งนี้การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะทำให้รัฐมีรายได้จัดเก็บภาษีจาก อีคอมเมิร์ซ ได้ปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท รวมถึงเป็นการปราบปรามสินค้าหนีภาษีที่เติบโตจาก
อีคอมเมิร์ซ อีกด้วย

2. กำกับดูแลการดำเนินธุรกิจค้าปลีกทุกช่องทาง อย่างโปร่งใส ยุติธรรม ไม่จำกัดเพียงค้าปลีกแบบมีหน้าร้านที่มีการเสียภาษีอย่างถูกต้องเท่านั้น

ในขณะที่ค้าปลีกออนไลน์และ travel retail ยังไม่มีกฎเกณฑ์ควบคุมที่ชัดเจน จึงเสนอให้มีการกำกับดูแลอย่างโปร่งใส โดยใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่ยุติธรรม จะทำให้เกิดการสมดุลในทุกช่องทางค้าปลีก อีกทั้งช่วยคงสภาพการจ้างงานในค้าปลีกแบบมีหน้าร้านที่มีมากกว่า 6.2 ล้านอัตรา และขับเคลื่อนเอสเอ็มอีไทยในระบบให้ก้าวต่อไป

หากข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้น ได้รับการอนุมัติ จะส่งผลให้ SME อยู่รอดกว่า 1.3 ล้านราย เกิดการขยายการจ้างงานจาก 6.2 ล้านอัตรา เป็น 7.4 ล้านอัตรา และจะมีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากกว่าแสนล้าน รวมทั้งสร้างรายได้ให้ภาครัฐเพิ่มขึ้นกว่า 3 หมื่นล้านบาท

ญนน์
นายญนน์ โภคทรัพย์

“จะเห็นว่า ข้อเสนอของสมาคมฯข้างต้นใช้เงินงบประมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่ SME จะได้รับ และการจ้างงานที่จะเพิ่มขึ้น ยังผลต่อเศรษฐกิจประเทศชาติโดยรวมในภาวะวิกฤตขณะนี้ และเป็นแนวทางที่เกิดผลเร็วและตรงเป้าหมายชัดเจน”นายญนน์ กล่าว

สำหรับ ธุรกิจค้าปลีกและบริการ เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของประเทศ ที่มีเส้นเลือดใหญ่ คอยกระจายเลือดไปหล่อเลี้ยงระบบและส่วนต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย เกษตรกร การจ้างงาน การกระจายสินค้า การให้บริการ รวมถึงการท่องเที่ยว สูบฉีดและสร้างเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศให้แข็งแรง

ดังนั้น ถ้า ธุรกิจค้าปลีกและบริการ แข็งแกร่ง จะสามารถนำพาประเทศ และยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทย ทุกระดับตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยบทบาทที่สำคัญ ของภาคค้าปลีกต่อการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย การสร้างเอสเอ็มอี ภาคการค้ากว่า 1.3 ล้านราย, สร้างงานโดยตรงกว่า 6.2 ล้านคน และ สร้างรายได้ให้รัฐ ผ่านการจ่ายภาษีมากกว่า 5 แสนล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo