World News

‘ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ’ สั่งเตรียมพร้อมแจกจ่าย ‘วัคซีนโควิด-19’ ภายใน 1 พ.ย.

“ศูนย์ควบคุมโรค สหรัฐ” สั่งอำนวยความสะดวกเอกชนสร้างสถานที่แจกจ่าย “วัคซีนโควิด-19” ตั้งเป้าเปิดใช้งานเต็มรูปแบบ 1 พ.ย. นี้

วานนี้ (2 ก.ย. 63) สื่อสหรัฐรายงานว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (CDC) ได้เรียกร้องให้รัฐต่างๆ เตรียมพร้อมที่จะแจกจ่ายวัคซีนที่มีศักยภาพในการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

วัคซีนโควิด-19 สหรัฐ

เดอะ ฮิลล์ (The Hill) เว็บไซต์ข่าวการเมืองของสหรัฐ อ้างคำกล่าวของโรเบิร์ต เรดฟิลด์ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ในจดหมายถึงผู้ว่าการรัฐและหน่วยงานด้านสาธารณสุขหลายแห่งว่า แม็คเคสสัน คอร์ปอเรชัน (McKesson Corporation) พร้อมด้วยบริษัทลูกจะยื่นขอใบอนุญาตในการสร้างสถานที่แจกจ่ายวัคซีนเร็วๆ นี้ พร้อมเรียกร้องให้ผู้ว่าการรัฐทุกแห่งพิจารณายกเว้นข้อกำหนดใดๆ ที่จะทำให้การสร้างหรือเปิดสถานที่ดังกล่าวเกิดความล่าช้า

“ระยะเวลาปกติที่ต้องใช้ในการยื่นขอใบอนุญาตเหล่านี้ เป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการสาธารณสุขอันเร่งด่วนนี้” เรดฟิลด์เผย พร้อมเสริมว่า “ศูนย์ฯ จึงขอให้พวกคุณทุกคนช่วยเร่งการยื่นขอใบอนุญาตสำหรับสถานที่แจกจ่ายเหล่านี้ให้เป็นไปอย่างเร่งด่วน และหากจำเป็นขอให้พิจารณายกเว้นข้อกำหนดใดๆ ก็ตามที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเปิดใช้งานสถานที่ดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบ ภายในวันที่ 1 พ.ย. นี้”

ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 หลายตัวใน สหรัฐ ได้เริ่มการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 แล้ว

ด้านสตีเฟน ฮาห์น กรรมาธิการสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ได้ให้สัมภาษณ์กับไฟแนนเชียล ไทมส์ (Financial Times) ว่า ตนยินดีที่จะเร่งกระบวนการผลิต วัคซีนโควิด-19 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วด้วยการอนุญาตให้ใช้ในงานในกรณีฉุกเฉิน ก่อนที่การทดลองทางคลินิกระยะ 3 จะสิ้นสุดลง

“สหรัฐ” ปัดเข้าร่วมโครงการ วัคซีนโควิด-19 กับทั่วโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลทรัมป์ยังกล่าวว่า สหรัฐจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในความร่วมมือระดับโลกกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ในการพัฒนา ผลิต และจัดจำหน่าย วัคซีนโควิด-19

โดยขณะนี้มีหลากประเทศมากกว่า 170 แห่งที่อยู่ในขั้นตอนเจรจาเข้าร่วมโครงการเข้าถึงวัคซีนระดับโลก (COVAX) ซึ่งเป็นแผนริเริ่มระดับโลกที่ทำงานร่วมกับผู้ผลิตวัคซีนเพื่อให้นานาประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม จัดด์ ดีรี โฆษกทำเนียบขาวกล่าวว่า สหรัฐจะไม่เข้าร่วม เนื่องจากองค์การอนามัยโลกเข้าร่วมโครงการนี้ และสหรัฐฯ “จะไม่ยอมอยู่ใต้กรอบขององค์กรพหุภาคี”

“การตัดสินใจโดยมองเพียงระยะสั้นของผู้ดูแล จะสกัดกั้นความสามารถของเราในการยุติการแพร่ระบาดนี้ต่อไป” อามิ เบรา แพทย์และสมาชิกสภาคองเกรสทวีตเมื่อวันพุธ (2 ก.ย.) พร้อมเสริมว่าการตัดสินใจโดดเดี่ยวตัวเองเช่นนี้ ทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการไม่ได้รับวัคซีน

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์กังวลว่า แม้สหรัฐจะสามารถพัฒนาและแจกจ่ายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดให้แก่พลเรือนของตนได้เป็นที่แรก แต่ชาวอเมริกันจำนวนมากก็ยังคงเสี่ยงติดเชื้อจากกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ หากประเทศอื่นไม่สามารถเข้าถึง วัคซีนโควิด-19 ได้

อนึ่ง สหรัฐตัดสินใจระงับการให้ทุนแก่องค์การอนามัยโลกในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เป็นการทำลายความสามารถขององค์การฯ และความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อสู้กับโรคระบาด

 

“ญี่ปุ่น” เล็งฉีดวัคซีนให้ประชาชนฟรี

ในฝั่งเอเชียมีกระแสข่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นอาจเสนอการฉีด วัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนทุกคนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยอาการรุนแรง และผู้ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในอนาคต

แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องเปิดเผยว่า เนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายและสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงสูง รัฐบาลจึงต้องการให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศระหว่างการประชุมเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า รัฐบาลตั้งเป้าจะสำรองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้เพียงพอสำหรับประชาชนทั่วประเทศภายในครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการและระเบียบการฉบับใหม่ในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ของประเทศ โดยรัฐบาลจะใช้เงินทุนสำรองจากปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งนับถึงเดือนมีนาคม 2564

ญี่ปุ่น วัคซีนโควิด-19

เมื่อต้นเดือนกันยายน 2563 รัฐบาลญี่ปุ่นเผยข้อตกลงกับแอสตราเซเนกา พีแอลซี (AstraZeneca Plc.) ผู้ผลิตยาของอังกฤษ เพื่อจัดซื้อ วัคซีนโรคโควิด-19 จำนวน 120 ล้านโดส ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด รวมถึงข้อตกลงกับไฟเซอร์ อิงก์ (Pfizer Inc.) และไบโอเอ็นเทค เอสอี (BioNTech SE) พันธมิตรสัญชาติเยอรมัน ในการขอรับวัคซีนอีกจำนวน 120 ล้านโดส หากพิสูจน์ได้ว่าการพัฒนาวัคซีนประสบผลสำเร็จ

ณ การประชุมว่าด้วยมาตรการใหม่ในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 รัฐบาลญี่ปุ่นยังตัดสินใจดำเนินการป้องกันล่วงหน้า เพื่อจัดการกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ในช่วงฤดูหนาวควบคู่กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 2 ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ความสามารถตรวจโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

แหล่งข่าวเผยว่า หนึ่งในเป้าหมายของระเบียบการตรวจโรคโควิด-19 ฉบับใหม่คือผู้ที่ทำงานในระบบดูแลสุขภาพ เนื่องจากญี่ปุ่นตรวจพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหมู่ผู้ให้บริการดูแลสุขภาพ อาทิ ผู้ที่ทำงานในสถานพยาบาล นอกจากนั้นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอาจเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับการฉีด วัคซีนโควิด-19 ก่อนเป็นลำดับแรก โดยขึ้นอยู่กับเขตเทศบาลที่พวกเขาอาศัยอยู่

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo