Politics

‘นภา-1’ ดาวเทียมดวงแรกของกองทัพอากาศไทย ขึ้นสู่อวกาศสำเร็จแล้ว

นภา-1 (NAPA-1) ดาวเทียมเพื่อความมั่นคงดวงแรกของกองทัพอากาศไทย ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศสำเร็จในวันนี้ เวลา 08.51 น. ตามเวลาประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (3 ก.ย.) เวลา 08.51 น. ตามเวลาประเทศไทย จรวด Vega เที่ยวบิน VV16 ของบริษัท Arianespace ได้ทำการยิงนำส่งดาวเทียมจำนวน 53 ดวง จาก 13 ประเทศ แบ่งเป็น Mirosatellite 7 ดวง และ Nanosatellite 46 ดวง หนึ่งในนั้นมีดาวเทียม นภา-1 (NAPA-1) ซึ่งเป็นดาวเทียมเพื่อความมั่นคงดวงแรก ของ กองทัพอากาศ รวมอยู่ด้วย

โดยทำการยิงนำส่งจากฐานยิงจรวด Guiana Space Center, French Guiana ดินแดนของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่ตั้งอยู่ทางตอนบนของทวีปอเมริกาใต้

นภา-1

สำหรับดาวเทียม นภา-1 เป็นดาวเทียมดวงแรกของกองทัพอากาศที่ยิงขึ้นสู่ชั้นอวกาศ เป็นดาวเทียมขนาดเล็ก หรือ Nanosatellite ซึ่งจะโคจรในวงโคจรรอบโลกระดับต่ำ (Low Earth Orbit) มีภารกิจในการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจทางอวกาศ สำหรับการตรวจการณ์พื้นที่ในประเทศที่จำเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคง

โดยการยิงดาวเทียม นภา-1 ในครั้งนี้ ทำให้กองทัพอากาศมีครบทั้ง 3 โดเมน (Air Domain, Cyber Domain และ Space Domain) สนับสนุนการขับเคลื่อนกองทัพอากาศตามยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ 20 ปี นอกจากนี้ กองทัพอากาศ ยังสามารถใช้ขีดความสามารถของดาวเทียมในการสนับสนุนงานด้านบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ

นภา-1

ทั้งการสนับสนุนข้อมูลพื้นที่จุดความร้อนเพื่อการดับไฟป่า และการสนับสนุนข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในระดับประเทศ ซึ่งเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจทางอวกาศ เพื่อความมั่นคงและการพัฒนาประเทศในอนาคต

กองทัพอากาศ ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงการรวบรวมองค์ความรู้เพื่อมิติความมั่นคงในอวกาศ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงของชาติ ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ สังคม และจิตวิทยา และนับเป็นผลประโยชน์ของชาติในการนำพื้นที่อวกาศเข้ามาเป็นพื้นที่ปฏิบัติการที่สามารถช่วยสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

ทำความรู้จัก “ดาวเทียมนภา-1”

“ดาวเทียมนภา-1” สร้างโดยบริษัท Innovative Solutions In Space (ISIS) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงในการออกแบบ และสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก การพัฒนาระบบสถานีภาคพื้น

“ดาวเทียมนภา-1” เป็นดาวเทียม Nano Satellite รูปแบบคิวบ์แซต (CubeSat) ขนาด 6U (10 ซม. X 20 ซม. X 30 ซม.) จะส่งขึ้นสู่วงโคจรแบบ Low Earth Orbit ที่ความสูงประมาณ 500 กิโลเมตรจากพื้นโลก มีวงโคจรแบบสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun Synchronous) นำส่งโดยจรวด VEGA ของบริษัท แอเรียนสเปซ (Ariane Space) ของฝรั่งเศส จรวด VEGA นั้นเป็นจรวดนำส่งดาวเทียมขนาดเล็กที่จะเน้นการปล่อยดาวเทียมสำรวจโลก และดาวเทียมสำหรับใช้ในด้านวิทยาศาสตร์

พล.อ.ต.สุพิจจารณ์ ธรรมวาทะเสรี ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศ ระบุว่า การยิงดาวเทียมนภา-1 เกิดขึ้นโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ เนื่องจากในปัจจุบันหลายประเทศได้มีการพัฒนา และแสวงหาการใช้ประโยชน์จากกิจการอวกาศ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่มีมูลค่ามหาศาล และผลประโยชน์แห่งชาติจากกิจการอวกาศของประเทศไทยก็มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเช่นกัน

นภา-1

จากการศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ในปี 2562 พบว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของอุตสาหกรรมอวกาศของไทยมีรายได้อยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานได้ 1.6 ล้านคน สร้างมูลค่าทางสังคมกว่า 5.8 พันล้านบาท และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 2.9 หมื่นล้านบาท โดยประกอบด้วย ส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น การขนส่งทางอวกาศ ระบบรับสัญญาณภาคพื้นดิน ฯลฯ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้สูงสุดถึง 42%

ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 60 กำหนดหน้าที่ของรัฐไว้ว่า “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่ และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชน” ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติก็ได้กำหนดประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงทางอวกาศด้วยเช่นกัน

ด้วยความสำคัญด้านความมั่นคงและภัยคุกคามทางอวกาศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต กองทัพอากาศจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ 20 ปี และกำหนดให้มิติอวกาศเป็นหนึ่งในมิติหลักในการปฏิบัติภารกิจ และได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศเมื่อเดือนตุลาคม 2562 เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติในอวกาศ และการปฏิบัติการทางอวกาศทั้งปวงเพื่อความมั่นคงของประเทศ

ทั้งนี้ เทคโนโลยีอวกาศสามารถตอบสนองในการพัฒนาประเทศได้หลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ การพยากรณ์อากาศ การวางผังเมือง การช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย การสื่อสารและโทรคมนาคม รวมถึงการใช้ดาวเทียมเพื่อความมั่นคงในการลาดตระเวนเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่ชายแดน

นภา-1

สำหรับเป้าหมายของการใช้ นภา-1 คือ การเฝ้าระวังทางอวกาศ เพื่อค้นหา ติดตาม และพิสูจน์ทราบภัยคุกคามจากอวกาศที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ด้านอวกาศของประเทศ เช่น ดาวเทียมของต่างชาติเข้ามาใช้วงโคจรดาวเทียมค้างฟ้าที่ประเทศไทยได้สิทธิอยู่, การชนดาวเทียมของไทยโดยวัตถุอวกาศ และเหตุการณ์ชิ้นส่วนจรวดหรือดาวเทียมตกใกล้ประเทศไทย เป็นต้น

การข่าวกรอง การเฝ้าตรวจ และการลาดตระเวนทางอวกาศ มีภารกิจด้านการข่าวกรอง การเฝ้าตรวจ และการลาดตระเวนทางอวกาศ (Space ISR) ที่จะสามารถสนับสนุนการปฏิบัติการทางอากาศของกองทัพอากาศได้ทั้ง ระดับยุทธศาสตร์ ระดับยุทธการ และระดับยุทธวิธี ทั้งในภารกิจการปฏิบัติการรบและการปฏิบัติการที่มิใช่การรบ โดยการใช้ภาพถ่ายหรือข้อมูลจากดาวเทียม แล้วดำเนินการปรับแก้และประมวลผลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ด้วยขีดความสามารถของดาวเทียม “นภา 1” ที่สามารถถ่ายภาพพื้นโลกจากอวกาศ และเข้าถึงพื้นที่ปฏิบัติการได้ทั่วประเทศไทย ทำให้สามารถตอบสนองภารกิจการปฏิบัติการทางอากาศและอวกาศ การลาดตระเวน และเฝ้าตรวจตามแนวชายแดน การสนับสนุนการพัฒนาประเทศ การบรรเทาสาธารณภัย ตลอดจนจะเป็นรากฐานอันสำคัญในการพัฒนาสร้างอุตสาหกรรมอวกาศภายในประเทศไทยได้อีกด้วย

พล.อ.ต.สุพิจจารณ์ ยืนยันว่า การยิงส่ง “ดาวเทียมนภา-1” ขึ้นไปอวกาศนั้น มีจุดประสงค์หลักเพื่อรักษาความมั่นคงภายในประเทศ ไม่ใช่เพื่อการรบหรือสอดส่องติดตามใคร ใช้เพื่อพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเกษตรกรรม ป่าไม้ ทรัพยากระรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ชลประทาน โดยยืนยันว่า “นภา-1” จะไม่ได้ขึ้นไปทำงานซ้ำซ้อนกับดาวเทียมอื่น เช่น ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA อย่างแน่นอน

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก กองทัพอากาศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo