Politics

ทำใจ! ‘นพ.ยง’ ชี้โควิดต้องอยู่กับเราตลอดไป คาดสิ้นปียอดติดเชื้อพุ่ง 50 ล้านคน

โควิด ต้องอยู่กับเราตลอดไป “นพ.ยง” ชี้เชื้อไวรัสไม่ได้หมดไป แต่เปลี่ยนเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล คาดสิ้นปีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50 ล้านคน และสูญเสียชีวิตมากกว่าล้านแน่นอน

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ว่า โควิด 19 ประเทศไทยสามารถควบคุม ไม่ให้มีการระบาดในประเทศได้ถึง 100 วันแล้ว

ขณะเดียวกันจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกรวม 26 ล้านคนแล้ว มีผู้ป่วยเสียชีวิตมากกว่า 8 แสนคน จะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆประมาณ 4 วันหนึ่งล้านคน ภายในสิ้นปีนี้น่าจะมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50 ล้านคน และมีการสูญเสียชีวิตมากกว่าล้านแน่นอน

ความหวังที่จะหยุดยั้งการระบาดของโรคได้ ทุกคนตั้งความหวังไว้ที่ วัคซีน แต่การให้ วัคซีน กับคนทั้งโลกไม่ใช่เรื่องง่าย

โควิด

การจะหยุดยั้งการระบาดของโรคได้ จะต้องมีคนติดเชื้อไปแล้ว รวมทั้งเกิดภูมิต้านทานที่ได้จาก วัคซีน รวมกันแล้ว ต้องไม่น้อยกว่า 50-60% ของประชากร วัคซีน จะต้องมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ความหวังส่วนตัวขอให้มีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า 60% ก็ยังดี หรือให้ วัคซีน แล้วถ้าติดเชื้อจะลดอาการรุนแรงลงได้

ไวรัสนี้จะยังอยู่กับเราตลอดไป สิ่งหนึ่งที่มีความต้องการอย่างยิ่ง คือ ยาที่ใช้รักษาจำเพาะ เพื่อลดความรุนแรงของโรค และไม่ให้เกิดการเสียชีวิตเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องการในระยะยาว

ในอดีตที่ผ่านมายกตัวอย่างไข้หวัดใหญ่สเปนในการระบาด ไม่ได้มีการควบคุมมากมายเท่าปัจจุบัน แต่เมื่อ 100 ปีที่แล้วประชากรก็ไม่ได้หนาแน่นเท่ากับปัจจุบัน การระบาดของโรคใช้เวลา 2 ปี โรคจึงสงบลง

เชื้อไวรัสไม่ได้หมดไป เปลี่ยนเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ที่เป็นการระบาดทุกปี

สำหรับ โควิด 19 มีมาตรการในการควบคุมป้องกันลดการระบาดให้เหลือน้อยที่สุด ดังนั้นถ้าไม่มีวัคซีน มาช่วยเลย การระบาดจะต้องยาวนานกว่า 2 ปี

อย่างไรก็ตามมีความเชื่อมั่นว่าภายในสิ้นปีนี้ ผลการศึกษาวัคซีนในระยะที่ 3 ที่มีถึงอย่างน้อย 6 ชนิดในปัจจุบัน ก็น่าจะเริ่มเห็นประสิทธิผลในการป้องกันโรคของวัคซีนแต่ละชนิดที่ทำการศึกษากัน

ในอดีตถึงปัจจุบัน วัคซีนที่ทำการศึกษากันประกอบไปด้วย

  • วัคซีนเชื้อเป็นชนิดอ่อนฤทธิ์
  • วัคซีนเชื้อตาย
  • วัคซีนที่ใช้วิศวกรรมพันธุศาสตร์สร้างโปรตีนจากสิ่งมีชีวิต
  • วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นตัวนำ
  • วัคซีนที่ใช้ DNA หรือ RNA

รายละเอียดข้อดีข้อเสียของวัคซีนแต่ละชนิด จะนำมาเสนอต่อไป

โควิด

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นพ.ยง ได้โพสต์ไขข้อสงสัย หลังมีคำถามว่า “โควิด” เมื่อเป็นแล้ว สามารถเป็นซ้ำอีกได้หรือไม่ โดยระบุว่า โควิด19 เป็นแล้วเป็นอีกได้หรือไม่ เพิ่งให้สัมภาษณ์วารสารชื่อดัง ถึงเรื่องการเป็นซ้ำของ โควิด 19

ขณะนี้ทั่วโลก มีการยืนยันว่าเป็นแล้วเป็นอีก 4 ราย คือใน ฮ่องกง เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์และ รัฐเนวาด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการยืนยันว่าเป็นแล้วเป็นอีก ในฮ่องกงระยะห่างกัน 4 เดือนครึ่ง ผู้ป่วยในอเมริกาเป็นครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรกไม่ถึง 50 วัน

ผู้ป่วยเป็นครั้งที่ 1 ไม่รุนแรง ส่วนการเป็นครั้งที่ 2 ส่วนใหญ่ก็ไม่รุนแรง ยกเว้นในผู้ป่วยของอเมริกา ที่เป็นครั้งที่ 2 มีอาการปอดอักเสบ ส่วนครั้งแรกไม่รุนแรง

การติดเชื้อ โควิด19 ซ้ำ ต้องแยกจาก การตรวจพบเชื้อซ้ำ ในผู้ที่หายจาก โควิด 19 หรือที่เราชอบพูดกันว่าตรวจพบซากไวรัส
จากการศึกษาของเราในการติดตาม ผู้ที่หายป่วยจาก โควิด 19

มีการตรวจพบเชื้อซ้ำได้อีก หลังจากผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 14 ราย จากจำนวน 212 ราย (6.6%) ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 5 สัปดาห์จนถึง 15 สัปดาห์หลังจากที่มีอาการ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากผู้ป่วยที่มีอาการน้อย จะมีภูมิต้านทานต่ำกว่าผู้มีอาการมาก หรือปอดบวม

การตรวจภูมิต้านทาน จากการติดตามของเราในผู้ป่วย 217 ราย ที่หายจาก โควิด19 แล้วในช่วง 4 สัปดาห์ถึง 14 สัปดาห์ จะตรวจไม่พบภูมิต้านทาน IgG ประมาณ 12% ส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีอาการน้อย เราตรวจทั้งภูมิต้านทานต่อ spike protein และ neucleocapsid

จากการศึกษาในอดีต coronavirus ทั่วไปที่ทำให้เกิดหวัด ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นค่อนข้างต่ำ และลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นแล้วเป็นอีกได้ เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจทั่วไป เช่น RSV Rhinovirus เป็นแล้วเป็นอีกได้

ไม่แปลกเลยที่ RSV ในเด็กบางคนเป็นทุกปี เพราะเชื้อจะอยู่ในระบบทางเดินหายใจส่วนต้นเป็นส่วนใหญ่ และภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจึงไม่อยู่นาน และไม่สามารถปกป้องกันเป็น ซ้ำได้

เช่นเดียวกัน โควิด19 ในผู้ที่มีอาการน้อย และถ้าภูมิต้านทานต่ำ และไม่อยู่นาน ก็จะมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก คงจะต้องติดตามต่อไปว่า จะพบได้บ่อยแค่ไหน เพราะการระบาดของโรคนี้ เพิ่งเป็นมาแค่ 9 เดือน คงจะก็มีข้อมูลการเป็นซ้ำเพิ่มขึ้น

ระบบภูมิต้านทานกับการติดเชื้อซ้ำของ โควิด19 จะมีความสำคัญมาก กับวัคซีนที่กำลังพัฒนา ในการป้องกันโรค รวมทั้งภูมิที่เกิดขึ้น จะส่งเสริมการ เกิดโรคครั้งที่ 2 หรือไม่

การศึกษาภูมิระยะยาวของผู้ที่หายป่วย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษา ขณะนี้ผมและคณะ ร่วมกับสำนักอนามัยและการแพทย์ ของกรุงเทพมหานคร และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ กำลังทำการศึกษาติดตามภูมิต้านทานในผู้ที่หายป่วยจาก โควิด19 ระยะยาวให้ถึง 1 ปี ขณะนี้เข้าสู่เดือนที่ 6 แล้ว ขอเชิญชวนผู้ที่หายจากโรค ติดตามระดับภูมิต้านทาน เพื่อเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาวัคซีนต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK