General

โควิด-19 ต้นแบบ ‘ปฏิรูปโรคอุบัติใหม่’ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สังคมผู้สูงอายุ

ปฏิรูปโรคอุบัติใหม่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ชูโควิด-19 เป็นต้นแบบ พร้อมเดินหน้าโควิด-19 ต้นแบบ สังคมผู้สูงอายุ งานเร่งด่วน คณะกรรมการ ปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข 

นายแพทย์อุดม คชินทร ประธาน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เปิดเผยว่า จะนำบทเรียนโรคโควิด-19 มาเป็นต้นแบบ ปฏิรูปโรคอุบัติใหม่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพราะแม้ประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุข จะควบคุมโรคโควิด 19 ได้ดี แต่ต้องการบูรณาการเชื่อมโยงหน่วยงานอื่นๆ ให้มากขึ้น

ปฏิรูปโรคอุบัติใหม่

นอกจากนี้ ยังพบว่า กฎหมายอย่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ยังไม่ครอบคลุม สิ่งสำคัญคือ การที่ทำให้ควบคุมโรคนี้ได้สำเร็จ เกิดจากความร่วมมือของประชาชน เช่นเดียวกันการปฏิรูปที่จะสำเร็จได้ ต้องได้รับความร่วมมือ จากภาคประชาชนเช่นกัน

ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นแผนปฏิรูปด้านสาธารณสุข 10 ประเด็นหลัก ในการจัดการภาวะโรคระบาด-โรคอุบัติใหม่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และสังคมผู้สูงอายุ เพื่อบูรณาการทุกภาคส่วน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เปิดรับฟังความคิดเห็นแผนปฏิรูปด้านสาธารณสุข 10 ประเด็นหลัก ในการจัดการภาวะโรคระบาด-โรคอุบัติใหม่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และสังคมผู้สูงอายุ สาเหตุคุกคามสุขภาพคนไทย บูรณาการทุกภาคส่วนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อประโยชน์ประชาชน

สำหรับ คณะกรรมการฯ ชุดนี้เป็นชุดที่ 2 มีระยะเวลาดำเนินการเพียง 2 ปี ครบกำหนดในวันที่ 14 สิงหาคม 2565 โดยยืนยันว่า จะต่อยอดประเด็นการปฏิรูปประเทศ ด้านสาธารณสุขของคณะกรรมการฯ ชุดแรก ที่มี นายแพทย์เสรี ตู้จินดา เป็นประธาน ให้เห็นเป็นรูปธรรม 10 ด้าน ได้แก่

นายแพทย์อุดม คชินทร
นายแพทย์อุดม คชินทร

1. การใช้ระบบบริหารจัดการด้านสุขภาพ 2. ระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศสุขภาพ 3. กำลังคนสุขภาพ 4. ระบบบริการปฐมภูมิ 5. การแพทย์แผนไทย 6. การแพทย์ฉุกเฉิน 7. การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 8. ความรอบรู้ด้านสุขภาพ 9. การคุ้มครองผู้บริโภค และ 10. ระบบหลักประกันสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปทุกเรื่อง เป็นเรื่องใหญ่ เกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศ ความสำเร็จ อาจต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปี แต่อย่างน้อยช่วง 2 ปีนี้ ต้องวางระบบที่ดีของประเทศ ถือเป็นความท้าทาย โดยจะจัดการใน 3 เรื่อง ที่เป็นภาวะคุกคาม ด้านสาธารณสุขของไทย และโลกก่อน ได้แก่ โรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs และสังคมผู้สูงอายุ

สำหรับประเด็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ถือเป็นปัญหาของโลก ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตรวมปีละ 56 ล้านคน โดยมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ถึงร้อยละ 70 ขณะที่ประเทศไทย มีอัตราการเสียชีวิต จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสูงสุดเช่นกัน และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก ปีละ 3-4 แสนล้านบาท

จากการสำรวจของ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน ควบคุมโรคได้ ตามเกณฑ์ที่แพทย์กำหนดเพียงร้อยละ 25 ไม่รู้ว่าตัวเองป่วยร้อยละ 40 มารู้ตัวอีกทีเมื่อเกิดอาการ ทำให้เป็นอัมพาต หัวใจวาย เสียชีวิต จึงต้องปฏิรูป โดยบูรณาการบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ความรอบรู้ด้านสุขภาพเข้ากับการรักษา หากปรับพฤติกรรมได้ โรคก็จะลดลง

รับฟังความเห็น

ส่วนเรื่องผู้สูงวัย ประเทศไทย จะมีสัดส่วน ผู้สูงอายุ เกิน 60 ปีถึงร้อยละ 20 ของประเทศในปี 2567-2568 และจะเกินร้อยละ 25 ในปี 2578 ซึ่งผู้สูงอายุ จะเป็นโรคจากความเสื่อมของร่างกาย มีค่าใช้จ่ายมากกว่าคนหนุ่มสาว 5-10 เท่า

ที่ผ่านมา มีการตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ขึ้นมาเกี่ยวกับ ผู้สูงอายุ จึงต้องปฏิรูปเพื่อขับเคลื่อน และเกิดการบูรณาการ โดยเฉพาะการดูแลที่บ้านและชุมชน ซึ่งถือเป็น new normal ของระบบสุขภาพ หลังจากมีวิกฤติโรคโควิด 19 โดยตั้งเป้าหมายให้มี ผู้บริบาลดูแล ผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้น มีการผลิตเพิ่มใหม่ภายในปี 2565 จำนวนรวม 70,000 คน

“การปฏิรูปต้องทำอะไรที่ไม่เหมือนเดิม ถ้าทำแบบเดิมก็ไม่มีการปฏิรูป ซึ่งใน 3 เรื่องที่จะขับเคลื่อน เป็นเพียงตุ๊กตาภาพใหญ่ที่ตั้งไว้ ยังไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด สามารถปรับปรุงได้ จึงนำมารับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ขอให้ช่วยกันคิดเสนอแนะให้เกิดการปฏิรูปผ่าน 10 ประเด็น”นายแพทย์อุดม กล่าว

ตัวอย่างเช่น การจัดการ ระบบการเงินการคลัง 3 กองทุนสุขภาพทั้งบัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม ทำอย่างไรถึงมีความยืดหยุ่นมากขึ้น การลดเหลื่อมล้ำ การยกระดับเรื่องข้อมูลที่ยังไม่เชื่อมโยง ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์วางแผนได้ การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่เป็นคอขวดให้การปฏิรูปไม่สำเร็จ สร้างนวัตกรรมระบบบริการปฐมภูมิ เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo