COVID-19

นายจ้างมีเฮ! รัฐช่วยเงินค่าจ้าง 50% ยาว 1 ปี จ้างงานเด็กจบใหม่ 2.6 แสนคน

จ้างงานเด็กจบใหม่ ศบศ. มีมติเห็นชอบให้รัฐ ช่วยเงินค่าจ้าง 50% รวม 1 ปี ทั้งระดับปริญญาตรี-ปวส.-ปวช. จำนวน 260,000 อัตรา ปริญญาตรี เริ่มต้นเดือนละ 15,000 บาท

วันนี้ (2 กันยายน 2562) ที่ประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติส่งเสริม สนับสนุนการ จ้างงานเด็กจบใหม่ ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) รวมจำนวน 260,000 อัตรา

จ้างงานเด็กจบใหม่

ทั้งนี้ รัฐบาลจะให้การสนับสนุนเงินค่าจ้าง 50% ของเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน โดยจะมีระยะเวลาการจ้างงานทั้งสิ้น 12 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

สำหรับอัตราค่าจ้างตามวุฒิการศึกษา ดังนี้ ปริญญาตรี เดือนละ 15,000 บาท, ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เดือนละ 11,500 บาท และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เดือนละ 9,400 บาท

พลเอกประยุทธ์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบศ. วันนี้ ได้พูดถึงการใช้งบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 วงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งระยะแรกใช้ไป 1 แสนล้านบาท และในระยะต่อไป จะใช้ในการฟื้นฟูเรื่องของภาคธุรกิจ SMEs ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการจ้างงาน บัณฑิตจบใหม่ และที่ตกงานอยู่เดิม ในปี 2562-2563 ในระยะแรก ซึ่งนอกจากกระทรวงแรงงานแล้ว ยังมีงบจ้างงานอื่น ๆ ของหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย

“รัฐบาลต้องการให้เพิ่มการจ้างงานให้มากยิ่งขึ้น ๆ ขอให้ทุกคนทำความเข้าใจรัฐบาลจะใช้เงินอย่างระมัดระวังภายใต้มาตรการที่เหมาะสม”นายกรัฐมนตรีกล่าว

ว่างงาน

สำหรับสถานการณ์การว่างงาน และการเลิกจ้างล่าสุด ข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม ในเดือนกรกฎาคม 2563 พบว่า มีผู้ประกันตน (ม.33) จำนวน 11,168,914 คน และมีผู้ประกันตน มาขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน จำนวน 410,061 คน คิดเป็นร้อยละ 3.67 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ พบว่า มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน กรณี ว่างงาน เพิ่มขึ้น 218,404 คน คิดเป็นร้อยละ 113.96 โดยสาเหตุการว่างงานมากที่สุด คือ การลาออกจากงาน ร้อยละ 53.61, เลิกจ้าง ร้อยละ 43.35 และสิ้นสุดสัญญาจ้าง ร้อยละ 3.04

สำหรับการ ว่างงาน ปกติ นับถึงเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ที่เกือบ 6 แสนราย หรือคิดเป็น 5% ของผูู้ประกันตนมาตรา 33 ทั้งหมด แต่คาดว่าสิ้นกรกฎาคม 2563 ถึงสิ้นปี อาจจะเพิ่มแบบก้าวกระโดด

ทั้งนี้เพราะ แม้กิจการภายในประเทศไทย เปิดทำงานได้ก็จริง แต่กิจการหลายกิจการ ที่มีลูกจ้างเป็นจำนวนมาก ตามนิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ ต้องรับคำสั่งซื้อสินค้า และส่งออกไปต่างประเทศ แต่ตอนนี้ไม่สามารถดำเนินการได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo