Business

อสังหาฯ ตบเท้า พบนายกฯ วอน ‘ปลดล็อก LTV’ ลดเพดานราคาบ้าน

ปลดล็อก LTV อสังหาฯ พบนายกฯ พร้อมขอยกเลิกเพดานราคาบ้านได้สิทธิลดค่าธรรมเนียม การโอนและจำนอง ชี้แค่ปลดล็อก LTV ลูกค้ากลับมาทันที 10%

รายงานข่าวจากวงการอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า สมาคมด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะเข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ (3 กันยายน) เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ และนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจ และลดอุปสรรคต่อการเติบโต ของธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ เข้าหารือ โดยหนึ่งในประเด็นที่คาดว่าจะเสนอต่อรัฐบาลคือการ ปลดล็อก LTV หรือ มาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย

ปลดล็อก LTV

นอกจากนี้ ยังขอให้พิจารณา ลดเพดานราคาบ้าน ที่ได้รับสิทธิลดค่าธรรมเนียมการโอนและจำนอง โดยมองว่า การปลดล็อก LTV จะส่งผลให้ภาคธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ได้ลูกค้ากลับคืนมาทันทีไม่ต่ำกว่า 10%

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย (SPALI) กล่าวว่า ในมุมของรัฐบาล หากคิดว่างบประมาณไม่มาก และไม่อยากเหนื่อยในเรื่องการจัดเก็บภาษี ก็ควรมาพิจารณาในเรื่อง ปลดล็อกมาตรการ ควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV)

ทั้งนี้ การออกมาตรการ LTV เมื่อไปย้อนดูข้อมูล จะพบว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ กังวลเรื่องการเก็งกำไรคอนโดมิเนียม ซึ่งหากคิดในมุมนั้น มาตรการ LTV ไม่ควรครอบคลุมกับตลาดแนวราบ และในปัจจุบันก็ไม่มีใครเก็งกำไรคอนโดมิเนียมอยู่แล้ว

“เมื่อสภาพตลาดเป็นเช่นนี้ ก็ควรจะปลดล็อกไปเลย และยังช่วยให้รัฐบาลไม่ต้องเสียเงินด้วย และยังทำให้คนซื้อเพิ่มขึ้น 10% รัฐบาลยังได้ภาษีค่าธรรมเนียมการโอนฯ และภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มขึ้นด้วย”นายไตรเตชะ กล่าว

สำหรับการยกเลิกเพดานราคาบ้าน ในมาตรการลดค่าธรรมเนียม การโอนและจดจำนอง เนื่องจาก บ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 30% ของภาพรวมตลาดบ้าน แต่ที่เหลืออีก 70% รัฐบาลยังไม่ได้ให้การสนับสนุน ซึ่งหากคลายจุดนี้ ด้วยการลดเพดานราคาบ้านให้ครอบคลุม จะทำให้ทุกระดับราคาได้รับผลประโยชน์

ปัจจุบัน แม้ว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์อสังหาฯ จะเริ่มกลับมาดีขึ้น แต่ก็ยังมีประเด็นที่ต้องเฝ้าและติดตาม โดยเฉพาะในกลุ่มของอาชีพการโรงแรม และอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสายการบิน การโอนกรรมสิทธิ์อาจไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

4882DA47 F6AD 4DC0 B640 4601D25EBED9

ทั้งนี้เพราะปัจจุบัน สถาบันการเงินยังคงเข้มงวด ในการปล่อยสินเชื่อ และเริ่มเกิดปัญหา จากลูกค้าขอยกเลิกการโอนกรรมสิทธิ์ ในโครงการที่จองไว้ ซึ่งแม้ตัวเลขจะไม่มาก แต่ก็เป็นสัญญาณ ที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะอาจเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

นายไตรเตชะ ยกตัวอย่างว่า โครงการอสังหาฯ ที่บริษัทศุภาลัย ไปร่วมลงทุนกับบริษัทพันธมิตร ที่ประเทศออสเตรเลีย ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยอดขายบ้านในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นถึง 200% และเติบโตทุกเดือน เนื่องจากรัฐบาลออสเตรเลีย ให้การสนับสนุนถ้าลูกค้าซื้อบ้านหลังแรก และปรับปรุงบ้านตัวเอง

เริ่มตั้งแต่ตอกเข็ม รัฐบาลมีวงเงินส่งเสริมประมาณ 500,000 บาท ในราคาบ้านเฉลี่ย 10 ล้านบาท แต่ยอมรับว่าสำหรับประเทศไทย น่าจะทำได้ยาก แต่หากทำได้ แม้จะไม่เท่าออสเตรเลีย ก็น่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยประสบวิกฤติทั้งเศรษฐกิจ และจำนวนคนตกงานที่มากขึ้น จึงหวังว่าภาครัฐจะเข้ามาช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้

ด้าน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) เผยบทวิเคราะห์ เรื่อง “ส่องตลาดที่อยู่อาศัย ความท้าทายของการฟื้นตัวหลังโควิด-19” โดยคาดการณ์ว่า ภาพรวม ยอดขาย อสังหาริมทรัพย์ กลุ่มที่อยู่อาศัย วูบ 29% ในปีนี้ หลังจากช่วงครึ่งแรกที่ผ่านมา พบว่า ยอดขายที่อยู่อาศัยหดตัวลงไปแล้วถึง 45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 เป็นเครื่องซ้ำเติมตลาดที่อยู่อาศัย ที่อ่อนแออยู่แล้ว จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และผลของมาตรการ LTV ที่เริ่มในปี 2562 ทำให้หดตัวลงต่อเนื่องในปี 2563นี้

นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากกำลังซื้อ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่ลดลงมาก รวมถึงการปรับลดลงของยอดขายจากตลาดต่างชาติ ขณะที่ในด้านอุปทานเอง ก็พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ชะลอการเปิดโครงการใหม่ ๆ ออกไป โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม และหันมาเน้นโครงการแนวราบ เพื่อเจาะกลุ่มผู้ซื้อ เพื่ออยู่อาศัยจริง (real demand) มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังคาดการณ์ว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2563 ตลาดยังมีแนวโน้มซบเซา แม้ว่าหลังจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ จะมีผลให้ ยอดขายกลับมาฟื้นตัวได้บางส่วน จากการแข่งขันออกโปรโมชั่น ของผู้ประกอบการ แต่ภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อ ที่ยังฟื้นตัวช้า ส่งผลให้ยอดขายโดยรวม ยังฟื้นตัวได้ไม่มากนัก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo