Politics

‘จ.ตาก’ เข้มสกัดโควิดจากฝั่งเมียนมา จำกัดพนักงานส่งสินค้าข้ามแดนเหลือ 1 คน

“จังหวัดตาก” เพิ่มมาตรการสกัด โควิด จากฝั่ง “เมียนมา” จำกัดพนักงานขนส่งสินค้าข้ามแดนเหลือคันละ 1 คน และต้องผ่านการคัดกรองโรค ณ จุดผ่านแดน 

วันนี้ (2 ก.ย. 63) นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านเมียนมาจังหวัดตาก ลงนามคำสั่งจังหวัดตาก เรื่อง “ระงับการเดินทางเข้า-ออก ของบุคคล ณ จุดผ่านแดนถาวรจังหวัดตาก”

เมียนมา ตาก โควิด

ตามคำสั่งจังหวัดตากที่ 686/2563 ลงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง ระงับการเดินทางเข้า-ออก ของบุคคล ณ จุดผ่านแดนถาวรจังหวัดตาก กำหนดระงับการเดินทางเข้า-ออกของบุคคล ณ จุดผ่านแดนถาวรจังหวัดตาก ยกเว้นการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และสินค้าผ่านแดน โดยอนุญาตให้มีพนักงานขับรถสินค้า 1 คน และคนประจำรถสินค้า 1 คน สัญชาติไทยหรือ เมียนมา รวมคันละ ไม่เกิน 2 คนนั้น

เนื่องจากเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้รายงานข้อมูลผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาว่า เกิดการระบาดระลอกที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มมาตรการเข้มงวดการเข้า-ออกตามจุดผ่านแดน เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เข้ามายังประเทศไทย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และมติคณะกรรมการโรคติดต่ดจังหวัดตาก ครั้งที่ 33/2563 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 รวมทั้งมติคณะกรรมการศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านเมียนมา จังหวัดตาก ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559 เรื่องหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาการเปิด-ระงับ หรือปิดจุดผ่านแดนประเภทต่างๆ

จังหวัดตากจึงกำหนดกรณียานพาหนะไม่เกิน 4 ล้อ ขนส่งสินค้าข้ามแดน ณ จุดผ่านแดน สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 อนุญาตให้มีพนักงานขับรถ จำนวน 1 คน เท่านั้น และต้องผ่านการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease : COVID-19) จากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ณ จุดผ่านแดน สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 แล้ว

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

 “เมียนมา” เจอติดเชื้อ โควิด-19 เพิ่ม 37 ราย

เมียนมา เป็นอีกประเทศหนึ่งในอาเซียน ที่กำลังถูกจับตามองถึงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 หลังจากที่การระบาดกลับมารุนแรงอีกครั้ง มีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะใน “รัฐยะไข่” ที่กลายมาเป็นจุดร้อนในการระบาดของประเทศ

ล่าสุด เมียนมา รายงานการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ 37 คน ส่งผลให้ขณะนี้มียอดสะสมผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศอยู่ที่ 919 คน ขณะยอดผู้เสียชีวิตสะสมยังอยู่เท่าเดิมที่ 6 คน

ทั้งนี้ เมียนมาตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 สองรายแรกเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 และมีรายงานการตรวจพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อในท้องถิ่นรอบแรกครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563

ต่อมาเมียนมาตรวจพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อในท้องถิ่นรายใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563  โดยรัฐยะไข่ตรวจพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม ทำให้ขณะนี้ทุกตำบลในรัฐยะไข่อยู่ภายใต้คำสั่งห้ามออกจากบ้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ

ฉัตรชัย พรหมเลิศ
ฉัตรชัย พรหมเลิศ

จากการแพร่ระบาดดังกล่าว ประเทศไทยจึงต้องออกมาตรการเข้มงวดตามแนวชายแดน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากฝั่งประเทศเมียนมา

กระทรวงมหาดไทย สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด แจ้งนายอำเภอให้เน้นย้ำ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านของพื้นที่ที่ติดต่อกับชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน หรือ มีช่องทางผ่านแดนที่เป็นช่องทางธรรมชาติ ให้ระมัดระวัง ป้องกัน การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำและสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนด้านประเทศ เมียนมา จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดชุมพร จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดระนอง และจังหวัดราชบุรี ให้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้

1.การเดินทางเข้ามาในประเทศผ่านช่องทางการเข้าออก ด่าน จุดผ่านแดน หรือจุดผ่อนปรนในพื้นที่รับผิดชอบ ให้ดำเนินการตามมาตรการและแนวทางปฏิบัติของการป้องกันโรคสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศอย่างเคร่งครัด

2.บูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชายแดนเพื่อเพิ่มความเข้มงวด เฝ้าระวัง ป้องกันการเดินทางเข้าพื้นที่ของบุคคลจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ให้มีการลักลอบเดินทางเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณชายแดน ซึ่งหากพบกรณีดังกล่าว ให้ดำเนินการตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเข้มงวด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo