CEO INSIGHT

‘ศุภชัย เจียรวนนท์’ ปลุกธุรกิจไทย เดินหน้าลงทุน จ้างงาน ฟื้นประเทศ

ศุภชัย เจียรวนนท์ กระตุ้นธุรกิจไทยลงทุน เพิ่มจ้างงาน ร่วมใช้พลังความยั่งยืน ฟื้นประเทศ ตั้งเป้าเชิญ 200 บริษัทไทยร่วมเป็นสมาชิก GCNT

นาย ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) เปิดเผยว่า หลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 ยิ่งถือเป็นบทบาทสำคัญของภาคเอกชน ที่จะต้องช่วยกันใช้ พลังความยั่งยืน ฟื้นประเทศ คลี่คลายผลกระทบ ทั้งด้านชีวิต และทางเศรษฐกิจ และความมั่นคง ในการดำเนินชีวิตให้ผู้คนหลายล้านคน อาทิ การสร้างความมั่นคงทางชีวิต ให้นักเรียนนักศึกษา ที่เพิ่งเรียนจบ และหางานทำได้ยากในภาวะเช่นนี้

ศุภชัย เจียรวนนท์

ดังนั้นจึงเป็นบทบาทสำคัญของภาคเอกชน ในการมีส่วนร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังวิกฤติโควิด-19 ด้วยการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการจ้างงานต่อเนื่อง ตลอดจนขยายธุรกิจ โดยคำนึงถึงการเพิ่มการจ้างงานมากขึ้น ถือเป็นหน้าที่

“หน้าที่ของภาคธุรกิจเอกชน คือ ไม่ได้แค่ช่วยให้ตัวเองรอด แต่จะต้องฝ่าด่านร่วมไปกับภาครัฐ ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รอดไปด้วยกัน” นายศุภชัยกล่าว

การระดมสรรพกำลัง การแบ่งปันองค์ความรู้ และการแบ่งปันหลักการด้านความยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ สู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การรักษาความมั่นคงทางชีวิต ตลอดจนผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นต่อระบบสังคมของเรา ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องผนึกกำลังกัน และต้องไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นความร่วมมือที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก เพื่อให่โลกกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิม

ขณะที่เป้าหมายของ GCNT จึงเป็นการเพิ่มสมาชิกที่ขณะนี้มี 60 องค์กรธุรกิจให้ได้ถึง 200 องค์กร ทั้งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก เพื่อผสานความร่วมมือด้านความยั่งยืนที่เข้มแข็งมากขึ้น ตลอดจนการเร่งสร้างความตระหนักรู้ ให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เป็นทั้งอาสาสมัคร นักศึกษา ผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อมาเป็นผู้ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

สำหรับแนวทางการสร้างคนรุ่นใหม่ ได้วางโมเดล Learning Center มีการทดสอบในโรงเรียน 100 แห่งในขณะนี้ สร้างกิจกรรม 3 ด้าน ได้แก่ 1.การมีวินัยทางเศรษฐกิจ 2.การสร้างความเข้าใจด้านสังคมในเรื่องหลักความยั่งยืน 17 ข้อ ที่ต้องทำให้เข้าใจและนำไปปฏิบัติได้จริงจนเป็นแบบอย่างต่อไปได้ 3.ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข เข้าใจเรื่องการปลูกต้นไม้ การลดมลภาวะเป็นพิษในแหล่งน้ำ

ทั้งหมดนี้ จะเป็นแนวทางเชื่อมโยงให้เด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบต่อความยั่งยืนในอนาคตผ่านกระบวนการปฏิบัติจริง

ศุภชัย1
ศุภชัย เจียรวนนท์

หัวใจสำคัญของการพัฒนาด้านความยั่งยืนคือ ความมุ่งหวังให้ภาคเอกชน ต้องมีส่วนร่วม นำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไปดำเนินการอย่างจริงจัง เช่น กรณีของเครือซีพีที่ตั้งเป้าดำเนินการเรื่อง Zero Waste และ Zero Carbon ให้สำเร็จภายในปี 2030 ซึ่งเป็นความท้าทายของ ทั้งผู้บริหาร ตลอดจนพนักงานของซีพี

ดังนั้น หากองค์กรธุรกิจของไทยเลือกดำเนินการ 1 ใน 17 ข้อด้านความยั่งยืนของ SDGs และมีการตั้งเป้าหมายเพื่อท้าทายตัวเอง จะถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด

สมาคม GCNT ยังพร้อมสนับสนุนแนวทาง ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผลักดันให้ภาคเอกชน ต้องมีส่วนร่วมและนำเป้าหมายความยั่งยืน ไปดำเนินการอย่างจริงจัง ด้วยการให้บริษัทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทำรายงานด้านความยั่งยืน ทั้งมีการตรวจสอบรายงานด้วย จะช่วยต่อยอดในเรื่องของธรรมาภิบาล ความโปร่งใส

“การสร้างความตระหนักรู้ และสร้างการรับรู้ด้านความยั่งยืนได้ เป็น Turning Point ที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง เพราะเมื่อเกิดการตระหนักรู้ และเริ่มมีการวางเป้าหมาย การสร้างรายงานด้านความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจ ที่กล้าแสดงให้สาธารณะเห็น เสมือนเป็นพันธสัญญาและเงื่อนไขขององค์กร สิ่งนี้จะเป็นจุดที่จะสร้างพลังยิ่งใหญ่ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง”นายศุภชัยกล่าว

นอกจากนี้ โลกกำลังเผชิญวิกฤติหลายด้านทั้งกรณีโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำ สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และปัญหาเศรษฐกิจ การดำเนินการที่เชื่อมโยงกันระหว่าง GCNT ในประเทศไทย และสมาคม Global Compact ในหลายประเทศทั่วโลก ที่มีไม่ต่ำกว่า 60 สมาคม จะเป็นพลังสำคัญ ที่จะช่วยยกระดับความร่วมมือ ในการผลักดันการพัฒนา เพื่อความยั่งยืน SDGs ให้บรรลุผลสำเร็จได้

ทั้งนี้เพราะ บริษัทที่เป็นสมาชิกในสมาคม Global Compact แต่ละประเทศทั่วโลก ต่างมีเครือข่ายและการประสานความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมทั้งระหว่างภาคเอกชนด้วยกัน ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนสร้างความร่วมมือและความเป็นปึกแผ่นในระดับโลก

ทั้งนี้ การผนึกกำลังของสมาคม Global Compact ทั่วโลก จะยิ่งสร้างความเข้มแข็ง ทั้งยังส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาในประเทศไทย ไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก ผ่านเครือข่ายทั่วโลกที่เชื่อมโยงถึงกัน ในฐานะที่เป็นเครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุด เพื่อร่วมแบ่งปันวิธีการตลอดจนองค์ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องการตระหนักรู้ตลอดห่วงโซ่อุปทานของภาคธุรกิจเอกชน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo