Business

‘คลาวด์คิทเช่น’ ธุรกิจดาวรุ่งยุคโควิด ตอบโจทย์ฟู้ดเดลิเวอรี่

คลาวด์คิทเช่น เติบโตคู่ฟู้ดเดลิเวอรี่ ตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนิว นอร์มอล เจาะกลุ่มสั่งอาหารส่งที่พัก หรือรับเอง โอกาสร้านอาหารขนาดเล็ก-กลาง ลดต้นทุน

​ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า คลาวด์คิทเช่น (Cloud Kitchen) เป็นเทรนด์ธุรกิจร้านอาหารแนวใหม่ ในการตอบโจทย์ ธุรกิจการบริการจัดส่งอาหาร (Food Delivery) ไปยังที่พักในไทย ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการที่ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

คลาวด์คิทเช่น

ทั้งนี้เนื่องจากพบว่า ปริมาณการจัดส่งอาหาร ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เติบโตสูงถึง 1.5 เท่า จากในช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และ แม้ปริมาณการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก จะชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี หลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่อนคลาย แต่ยังมีปริมาณที่สูงกว่า ช่วงก่อนการแพร่ระบาด

การเติบโตของตลาด ฟู้ดเดลิเวอรี่ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ ในห่วงโซ่ธุรกิจอาหาร สนใจเข้ามาลงทุน ในธุรกิจบริการจัดส่งอาหารยังที่พัก อย่างเช่น การเปิดตัวแพลตฟอร์มการสั่งอาหาร ธุรกิจจัดส่งอาหาร ไปยังที่พัก ของผู้ให้บริการรายใหม่

อีกหนึ่งรูปแบบธุรกิจ ร้านอาหารแนวใหม่ที่น่าสนใจ คือ คลาวด์คิทเช่น ซึ่งปัจจุบัน ในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น

1. การให้บริการพื้นที่ครัวกลาง พร้อมอุปกรณ์ในการทำครัว ซึ่งเปิดโอกาสให้ ผู้ประกอบการร้านอาหาร เข้ามาเช่าพื้นที่ครัว เพื่อประกอบอาหาร

2. การรวมร้านอาหารหลาย ๆ ประเภท ของผู้ประกอบการรายใหญ่ เข้ามาอยู่ในจุดพื้นที่คลาวด์คิทเช่น เดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองรูปแบบดังกล่าว มีจุดหมายเดียวกัน คือ เน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภค ที่ต้องการสั่งอาหารไปยังที่พัก รวมถึงไปรับอาหารด้วยตนเอง (Takeaway)

ปัจจุบัน ธุรกิจร้านอาหารแบบคลาวด์คิทเช่น ได้รับความสนใจ ที่จะเข้ามาลงทุน จากผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจ ของแต่ละผู้ประกอบการ ได้แก่

cover ๒๐๐๙๐๓

  • กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่มีเครือข่ายร้านอาหาร เพิ่มช่องทางการขายอาหารในพอร์ต (แบบ One Stop Service) รวมถึง ลดค่าใช้จ่าย ในการขยายสาขา เนื่องจากการขยายสาขาในรูปแบบเดิม มีต้นทุนที่สูง ทั้งเงินลงทุนล่วงหน้า ค่าใช้จ่ายประจำรวมถึงแรงงาน

นอกจากนี้ คลาวด์คิทเช่นยังช่วยเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ จากค่าเช่าที่ หรือส่วนแบ่งรายได้ จากร้านอาหารขนาดเล็ก ที่เข้ามาใช้พื้นที่ เพื่อชดเชยรายได้เฉลี่ยต่อสาขาเดิม (Same Store sale) ที่มีทิศทางชะลอตัวลง อย่างต่อเนื่อง

  • กลุ่มผู้ให้บริการ แพลตฟอร์มธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก ขยายฐานลูกค้า และเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ จากค่าเช่าที่ หรือส่วนแบ่งรายได้ จากร้านอาหารขนาดเล็ก ที่เข้ามาใช้พื้นที่

การขยายจุดคลาวด์คิทเช่น ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ช่วยลดข้อจำกัด ในการสั่งอาหารข้ามเขตพื้นที่ และค่าบริการขนส่งอาหาร รวมถึงช่วยดึงร้านอาหาร ที่มีชื่อเสียงขนาดเล็ก เข้ามาร่วมในระบบ โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้ อาจมีการนำเสนอ ระบบการจัดการธุรกิจหลังบ้าน ด้านต่าง ๆ อาทิ การจัดหา และขนส่งวัตถุดิบ และ การทำโฆษณา ให้กับร้านอาหารที่เข้าร่วม

  • กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอื่น ๆ อย่าง ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เข้ามาลงทุนในธุรกิจคลาวด์คิทเช่น เพื่อสร้างรายได้ จากค่าเช่าพื้นที่

จากการรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์แผนการลงทุน ของผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ณ สิ้นปี 2563 จะมีจำนวนคลาวด์คิทเช่น ทั้งหมดไม่น้อยกว่า 10 จุด ซึ่งคาดว่าเกือบทั้งหมด จะตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

คาดการณ์

ที่สำคัญคือ หากโมเดลธุรกิจดังกล่าว สามารถสร้างรายได้ที่น่าสนใจ น่าจะมีการเข้ามาลงทุนมากขึ้น จากผู้เล่นทั้งใน และนอกอุตสาหกรรมร้านอาหาร ส่งผลให้คาดว่า ณ สิ้นปี 2565 น่าจะมีจำนวนคลาวด์คิทเช่น มากกว่า 50 จุด ซึ่งคาดว่า จะมีสัดส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่มีเครือข่ายร้านอาหารสูงกว่า

อย่างไรก็ดี เนื่องจากโมเดลธุรกิจนี้ ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเติบโต ทำให้โอกาสในการสร้างรายได้ ของผู้ให้บริการพื้นที่คลาวด์คิทเช่น ในช่วงแรกนี้ยังมีจำกัด และหากต้องการเพิ่มรายได้จากช่องทางดังกล่าว การกระจายสาขาเพื่อให้ครอบคลุมแหล่งที่อยู่อาศัย รวมถึงการขยายพอร์ตร้านอาหารที่มีชื่อเสียง เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ อาจเป็นปัจจัยที่สำคัญ ต่อการเติบโตในระยะข้างหน้า​

การเข้ามาของธุรกิจร้านอาหารแบบคลาวด์คิทเช่น ผู้ประกอบการร้านอาหารรายเล็ก-กลาง ก็น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ เนื่องจากสามารถเพิ่มช่องทางการขาย ซึ่งใช้เงินลงทุนน้อยกว่า การเปิดร้านอาหารแบบเดิม

อีกทั้งการที่รูปแบบธุรกิจของคลาวด์คิทเช่น มีหลายรูปแบบ ผู้ประกอบการร้านอาหาร สามารถเลือกที่เหมาะกับเงินลงทุน และโครงสร้างต้นทุนของตนเอง อาทิ การเข้าไปเช่าพื้นที่ครัว และทำการตลาดเอง หรือจะเลือกรูปแบบพันธมิตร โดยมีการแบ่งสัดส่วนรายได้ขั้นต้น ให้กับเจ้าของพื้นที่ หากร้านอาหารดังกล่าวมีสัดส่วนกำไรขั้นต้นที่สูง และต้องการลดความเสี่ยง จากความผันผวนของยอดขาย

สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็ก-กลาง ที่สนใจจะเข้าร่วมธุรกิจดังกล่าว จำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยทางธุรกิจต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อธุรกิจร้านอาหารของตน อาทิ

1. อัตราการสั่งอาหารซ้ำของผู้บริโภคกลุ่มเดิม เนื่องจากขอบเขตพื้นที่การให้บริการที่จำกัด ทำให้กลุ่มลูกค้าหลัก จะเป็นกลุ่มผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ

2. ช่องทางการสร้างรายได้ที่ถูกจำกัด เพียงแค่การจัดส่งไปยังที่พัก และไปรับด้วยตนเอง (Takeaway)

3. ค่าธรรมเนียม หรือส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งจะมีผลต่อกำไรสุทธิของร้าน

4. ความสามารถในการควบคุมคุณภาพของอาหาร ในกรณีที่ไม่ได้ใช้พนักงานของร้านในการปรุง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo