Business

ครม.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.ดิจิทัลไอดี คาดเปิดใช้กลางปี 62

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.การพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ  เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ตลอดจนการกำหนดแนวทางการคุ้มครองประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลและผู้ใช้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล

สรรเสริญ แก้วกำเนิด3
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด

“ปัจจุบันการทำนิติกรรมสัญญาหลายประเภท  ต้องมีการพิสูจน์ตัวตนก่อนที่จะใช้บริการได้  ที่ผ่านมา การพิสูจน์ตัวตนต้องให้ผู้ใช้บริการไปแสดงตัวตนต่อผู้ให้บริการ มีการยื่นเอกสารหลายอย่าง แต่ร่างกฎหมายดังกล่าว จะทำให้การทำนิติกรรมสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น หากสามารถพิสูจน์ตัวตนในแบบดิจิทัลได้ ก็จะเกิดประโยชน์ต่อทั้งตัวผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ” พล.ท.สรรเสริญ ระบุ

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมกำกับดูแลการพิสูจน์และยืนยันตัวตน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลโครงข่ายระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเป็นการทั่วไป  ออกประกาศ คำสั่งเพื่อปฏิบัติการเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.นี้  กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการของบริษัทผู้ให้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล รวมทั้งการกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การให้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล จะดำเนินการได้ ต้องมีการจัดตั้งในรูปแบบบริษัท และได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี  บริษัทผู้ให้บริการจะต้องกำหนดมาตรฐานในการรักษาความลับ และความปลอดภัยของข้อมูลในโครงข่ายระบบการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล โดยมีมาตรฐานการเข้ารหัสหรือดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการกำหนด

ขณะเดียวกันได้กำหนดบทลงโทษแก่บริษัทผู้ให้บริการที่จงใจ หรือประมาทเลินเล่อในการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องให้แก่ผู้อื่น หรือไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่เป็นไปตาม พ.ร.บ.นี้จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใช้บริการหรือเจ้าของข้อมูล บริษัทผู้ให้บริการจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นด้วย

“ร่างกฎหมายนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ทำให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมได้สะดวก ปลอดภัย” พล.ท.สรรเสริญ ระบุ

kunkalya
กุลยา ตันติเตมิท

ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่าร่าง พ.ร.บ.พิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล พ. ศ. … (ร่าง พรบ. Digital ID) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้กลางปี 2562

หากกฎหมายออกมาใช้บังคับได้ ไทยก็จะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายนี้ใช้  จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ในการทำธุรกรรม หรือการทำนิติกรรมสัญญา การยินยอม การลงลายมือชื่อหรือการแสดงเจตนาของผู้ทำธุรกรรมได้สะดวก และมีความปลอดภัย โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปแสดงตนอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ โรงพยาบาล และธนาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม หากการพิสูจน์และยืนยันตัวตนในรูปแบบดิจิทัลดำเนินการได้ ในอนาคตจะเกิดประโยชน์ทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการในภาพรวม  จะเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย คาดว่าภาคธุรกิจการเงินจะเป็นภาคที่มีการนำไปใช้และจะมีความรุดหน้ามากว่าภาคอื่น ๆ

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight